การที่โรงเรียนตั้งอยู่บนดอยสูง และมีนักเรียนที่มาจากหลายชาติพันธุ์ หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นปัญหา ทั้งในเรื่องภาษา วัฒนธรรมที่แตกต่าง การขาดแคลนไฟฟ้า รวมถึงการเดินทางที่ทุรกันดาร แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เป็นอุปสรรคด้านการเรียนการสอน ของโรงเรียนบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนดอยสูง มีนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 100% ที่ปัจจุบันนักเรียนสามารถฟังพูดอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังคงอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังได้นำเอาการศึกษามาพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน จนล่าสุดได้ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นหนึ่งในโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ จากมูลนิธิเอเชีย โดยความร่วมกับพันธมิตรต่างๆ พวกเขามีวิธีคิดและบริหารจัดการอย่างไร ลองไปศึกษากันดู
นายชัชวาล พวงทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปางแดง ได้กล่าวว่า “นโยบายของโรงเรียนคือการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ในบริบทของชุมชนบนพื้นที่สูง ที่มีหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ล้อมรอบ นักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 100% ประกอบด้วย 5 ชนเผ่าคือดาราอั้ง หรือปะหล่อง, ลาหู่, กะเหรี่ยง, ลีซู และอาข่า รวม 208 คน การจัดการศึกษาเป็นแบบพหุวัฒนธรรม เรียนภาษาถิ่นและภาษาไทยควบคู่กันไป เพิ่มเติมด้วยภาษาอังกฤษและจีน โดยมีคุณครูชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นผู้สอน นอกจากนี้ยังมีโครงการพี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน และการเพิ่มทักษะชีวิตด้วยการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข (พอประมาณ, มีเหตุผล, มีภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ และคุณธรรม) โดยนำแหล่งชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน โครงการหลวง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามาร่วมมือ และให้ความรู้กับนักเรียนในเรื่องการปลูกองุ่นและเมล่อน เพื่อให้มีทักษะการประกอบอาชีพในอนาคต”
ด้าน ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “มูลนิธิเอเชีย ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คัดเลือกโรงเรียนบ้านปางแดงเป็นโรงเรียนดีมีทุกที่ เพราะมีความโดดเด่นในการสนับสนุนให้นักเรียนได้มีสิทธิในการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมาจากชาติพันธุ์ใดก็สามารถเล่าเรียนได้ เด็กๆ สามารถฟังพูดอ่านและเขียนภาษาไทยได้อย่างชัดเจนมีคุณภาพ มีคุณครูครบวิชาเอกในทุกระดับชั้นซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้สามารถสอนนักเรียนได้ตามความถนัดตามที่ได้เรียนมา ยิ่งมีคุณครูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในหมู่บ้านก็ยิ่งทำให้เข้าถึงนักเรียนมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือการไม่สร้างความขัดแย้ง เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเพื่อนๆ ก็ทำให้ เกิดความสมานฉันท์ และอยู่ร่วมกันในสังคมท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลาย อย่างมีความสุข”
มาที่ ด.ญ.อุษญา กลิ่นน้ำหอม เผ่าล่าหู่ อายุ 9 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.3 เล่าว่า “หนูอาศัยอยู่กับครอบครัวที่หมู่บ้านปางแดงกลาง เดินทางมาโรงเรียนทุกวันด้วยรถมอเตอร์ไซด์ ใช้เวลาเดินทางนานพอสมควร แต่ก็ไม่รู้สึกว่าไกลเพราะคุ้นเคยแล้ว ตอนนี้หนูชอบเรียนคณิตศาสตร์มาก และการมาโรงเรียนทำให้หนูสนุกสนาน เพราะได้เจอกับคุณครู และเพื่อนๆ”
ด้าน ด.ญ.ธัญพิมล พัธนะปรีชากร (เฟ้ยเฟ้ย) เผ่าล่าหู่ อายุ 9 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.3 บอกว่า “หนูชอบเรียนภาษาอังกฤษ เมื่อโตขึ้นอยากเป็นหมอ ที่บ้านมีไฟฟ้าใช้แล้วแต่มาจากโซล่าเซลล์ ช่วงโควิดที่ผ่านมาหนูต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน การมาที่โรงเรียนทำให้หนูมีเพื่อนและไม่น่าเบื่อ ที่ผ่านมาเคยใช้อินเตอร์เนตผ่านมือถือในการค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่สนใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจหนูก็จะสอบถามจากคุณแม่เพื่อขอคำอธิบาย”
สำหรับโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ จัดขึ้นโดยมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสถานทูตออสเตรเลีย, มูลนิธิอานันทมหิดล และความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท., สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดพลังบวกในสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยผู้สนใจชมคลิปการสัมภาษณ์ฉบับเต็มจากรายการ 1 ในพระราชดำริ ตอนโรงเรียนดีมีทุกที่ พหุวัฒธรรมการศึกษา คลิกhttps://www.youtube.com/watch?v=Kf6zmU0Gs70&t=539s ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป