สมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.) วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕
เรื่อง การคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ/ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
อ้างถึง ๑. ประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาประกาศ ณ วันทื่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓
๒ . ประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕
ตามหนังสือที่อ้างถึง (๑) ได้มีประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยประกาศดังกล่าวระบุข้อกฎหมายไว้เป็นสาระสำคัญโดยกำหนดให้ผู้ที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์บริหารเกี่ยวกับการบริหารการประถมศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี และผู้ที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์บริหารเกี่ยวกับการบริหารการมัธยมศึกษา มาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี เช่นเดียวกัน ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายการศึกษา ต่อมาในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ ได้มีประกาศของคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยไม่มีการแยกคุณสมบัติของผู้สมัครให้เป็นไปตามประเภทของการจัดการศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา แต่อย่างใดรายละเอียดปรากฏตามหนังสือที่อ้างถึง ( ๒ ) จากข้อมูลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว
สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอเรียนว่า ประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ นั้นมีปัญหาที่สุ่มเสี่ยงว่าเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหลายฉบับ ดังนี้
ข้อ ๑ เดิมการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดเขตพื้นที่การศึกษาและจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษารวมอยู่ในความรับผิดชอบของของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ(ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๓ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓ ประกาศใช้ ได้กำหนดเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อรับผิดชอบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประกอบกับปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติทั้งสามฉบับถึงเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติทั้งสามนั้นสรุปได้ว่าเดิมระบบการบริหารและการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา รวมอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาทำให้การบริหารและการจัดการศึกษาเกิดความไม่คล่องตัวและเกิดปัญหาการพัฒนาการศึกษา ดังนั้น เพื่อให้การบริหารการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและเป็นการพัฒนาการศึกษาแก่นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้สัมฤทธิผลและมีคุณภาพยิ่งขึ้นตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ จึงได้มีการแยกเขตพื้นที่การศึกษาออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างหน่วยงานและการจัดระบบการศึกษาของชาติ จากบทบัญญัติของกฎหมายประกอบกับเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวนั้นจะเห็นว่าเนื่องจากลักษณะของการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและดับมัธยมศึกษามีความแตกต่างกัน จึงต้องสรรหาบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการบริหารจัดการศึกษาในแต่ละระดับ เพื่อให้มีการแยกการบริหารและการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาออกจากกัน และเพื่อให้มีการแยกการบริหารจัดการศึกษาโดยผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ผู้มีอำนาจจึงควรกำหนดรายละเอียดผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานมัธยมศึกษา ของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เป็นการเฉพาะ และควรกำหนดรายละเอียดผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานประถมศึกษาของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เป็นการเฉพาะ เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายการปฏิรูปการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อการบริหารจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา อันจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการของผู้เรียนและคุณภาพของประชาชนในชาติ
ข้อ ๒ การที่คณะกรรมการสรรหาฯหรือผู้มีอำนาจได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยไม่แยกคัดเลือกผู้ที่มีประสบการณ์บริหารจัดการศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา เห็นได้ว่าเป็นการตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการที่ไม่มีงานวิชาการใดรองรับว่าวิธีการเดิมนั้นไม่บรรลุวัตถุประสงค์อย่างไร และที่สำคัญคือเจตนารมณ์ของกฎหมายก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไป
ข้อ ๓ ประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ บัญญัติคุณสมบัติของผู้ประสงค์สมัครรับการคัดเลือกว่าดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี นั้น มิได้กำหนดว่านับถึงเมื่อใด จึงเป็นกฎที่มีความเคลือบคลุม
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ/ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขอได้โปรดยกเลิกประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ และขอให้กลับไปใช้วิธีการคัดเลือกตามแนวทาง ประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประกาศ ณ วันทื่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ เพื่อประโยชน์สูงสุดของการจัดการศึกษา ต่อไป อีกทั้งเรื่องนี้หากผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้ยกเลิกเพิกถอนและศาลสั่งให้มีการทุเลาการบังคับตามกฎโดยสั่งให้ประกาศดังกล่าวมีการสิ้นผลบังคับเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา จะทำให้การสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องสะดุดหยุดลงโดยไม่มีผู้ใดสามารถตอบได้ว่าจะนานแค่ไหนอย่างไร
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาส นี้
ขอแสดงความนับถือ
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.)
โทร ๐๘๓-๒๖๕๒๖๙๓