ที่ปรึกษากรรมาธิการ ขอให้เยียวยาให้ครบทุกกลุ่มเพื่อความเป็นธรรมด้วย
ในการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ ได้มีการรับทราบการรายงานความคืบหน้ากรณีปัญหาความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้ ในการประชุมของคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับเงินเดือนข้าราชการ พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ ได้พิจารณาแบ่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ ให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ยังไม่เกษียณอายุราชการได้รับการเยียวยาตามมาตรา ๘/๑ ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๗,๖๐๐ คน ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เป็นลำดับแรก เนื่องจากใช้งบประมาณไม่มากและเป็นไปตามกฎหมาย หลังจากนั้น จะพิจารณากลุ่มที่ ๒ ในการเยียวยาให้กับข้าราชการที่ได้รับปัญหาความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับเงินเดือนฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ – ๒๕๖๒ โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และจะพิจารณากลุ่มที่ ๓ ข้าราชการพลเรือนสายสนับสนุน ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๙,๐๐๐ คน ตามลำดับต่อมา ที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ได้มีการพิจารณาประมาณการงบประมาณสำหรับการเสนอขอรับการจัดสรรเงินชดเชยที่ใช้ในการเยียวยา สำหรับข้าราชการพลเรือน ฯ สายวิชาการ ใน ๒ ช่วงเวลา โดยที่ประชุมคณะทำงานได้มีมติเห็นชอบประมาณการงบประมาณและเห็นควรนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ดังนี้
๑) ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ เนื่องจากเป็นการขอรับการเยียวยาในช่วงที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้ โดยเสนอขอรับเงินชดเชยเพื่อเยียวยา ใน ๒ ส่วนคือ
๑.๑ การปรับเงินเดือน สำหรับผู้ที่ยังคงสภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕จำนวน ๗,๘๙๓ คน เป็นจำนวนเงิน ๒๖,๓๕๑,๐๕๕ บาทต่อเดือน
๑.๒ การปรับเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒ (เงินเดือนตกเบิก) สำหรับผู้ที่ยังคงสภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ และผู้ที่พ้นสภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ จำนวน ๑๐,๕๙๑ คน เป็นจำนวนเงิน ๑,๒๕๒,๕๐๗,๗๕๕ บาท
๒) ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ – ๑๔ เมษายน ๒๕๖๒ เนื่องจากเป็นการขอรับการเยียวยาย้อนหลังไปถึงวันที่เป็นจัดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้าหรือไม่เป็นธรรม สำหรับผู้ที่ยังคสถานภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ และผู้ที่พ้นสภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ จำนวน ๒๑,๕๘๒ คนเป็นจำนวนเงิน ๔,๒๖๒,๙๑๕,๒๕๐ บาท โดยจะทยอยจ่ายจำนวนปีละ ๘๕๒,๕๘๓,๐๕๐ บาทเป็นระยะเวลา ๕ ปี ให้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ตีความว่าการเยียวยาย้อนหลังไปถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ (ก่อนที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลใช้บังคับ) เป็นสิ่งที่สามารถทำได้หรือไม่
๓) สำหรับการเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สายสนับสนุน กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๘ หรือร้อยละ ๓ แล้วแต่กรณี คณะทำงานฯ ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณารายละเอียดในการประชุมครั้งถัดไป
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มีมติรับทราบ โดยที่ นายสุรวาท ทองบุ ที่ปรึกษากรรมาธิการ ได้อภิปรายขอให้ กมธ.ได้ติดตามและผลักดันให้มีการพิจารณาเยียวยาไม่ให้ลักลั่นกับกลุ่มที่ ๒ และ ๓ ต่อไป เพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองกลุ่ม ด้วย
ที่มา เฟซบุ๊ค สุรวาท ทองบุ : Surawat Thongbu