เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.)ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วันนี้ เป็นการประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับ ผอ.สพท.ในการดูแลนักเรียนและเพื่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะหลังจากที่เปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2565 ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าได้มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนักเรียน เรื่องของครู รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่าย การแต่งกาย ทรงผม และพฤติกรรม จึงต้องมีการประชุมในวันนี้เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน และช่วยกันแก้ไขปัญหา
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า ตนได้เน้นย้ำกับ ผอ.สพท.ไปว่า ในช่วงเปิดเทอม 3 เดือนแรก ขอให้พักความเข้มข้นในการจัดการเรียนการสอนก่อน เพื่อให้ครู นักเรียนมีเวลาปรับตัวเข้าหากัน ให้นักเรียนรู้สึกว่ามาโรงเรียนแล้วมีความสุข โดยขอให้ผอ.สพท.มอบหมายให้ รอง.ผอ.สพท. ศึกษานิเทศก์ แบ่งสายลงพื้นที่รับผิดชอบดูแลโรงเรียน โดยให้ช่วยกันดูแลโรงเรียนให้มีความปลอดภัยและให้มีบรรยากาศเป็นเหมือนบ้านที่มีแต่ความสุข
“หลังจากที่ทำให้โรงเรียนมีบรรยากาศการเรียนอย่างมีความสุขแล้ว ค่อยมาจัดการเรื่องการเรียนรู้เพื่อไม่ให้เด็กอยู่ในภาวะการเรียนรู้ถดถอย(Learning Loss) ขณะที่เด็กที่มีความสามารถพิเศษก็ต้องต่อยอดให้เขาได้เรียนรู้มากขึ้น ส่วนเด็กด้อยโอกาส ขาดโอกาสก็ต้องให้เขาได้รับโอกาสเท่าคนอื่น และให้โรงเรียนทุกแห่งพัฒนาเป็นโรงเรียนคุณภาพ เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย เป็นหน่วยพัฒนาชุมชนนั้น ๆ โดยไม่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ให้มาใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”ดร.อัมพรกล่าวและว่า เรื่องของการทำโรงเรียนคุณภาพตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้ต้องถือว่า สระแก้วโมเดล เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรม ที่จังหวัดต่าง ๆ สามารถไปดูได้ว่าสระแก้วโมเดลทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 7 มิถุนายน 2565
รับชมย้อนหลัง
ที่มาคลิปจาก youtu.be/MRv8FvJ3F6k
7 มิถุนายน 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า หลังจากเปิดเรียนในรูปแบบออนไซต์ 100% มาตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบปัญหาอุปสรรคหลายประการ เช่น เด็กทำร้ายตนเอง เด็กทำร้ายคนอื่น ปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีมากขึ้น ปัญหาเรื่องทรงผม เครื่องแบบนักเรียน พฤติกรรมคำพูดของครู และผู้บริหาร เป็นต้น
นายอัมพร ระบุว่า ตนจึงได้เน้นย้ำกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ผอ.โรงเรียน และครู ว่า ตลอด 2 ปี ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เราได้ปรับบ้านเป็นโรงเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ส่วนครูเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมการสอน แต่เมื่อเปลี่ยนให้เด็กมาเรียนในห้องเรียนตามปกติแล้ว เด็กอาจจะปรับตัวไม่ได้ และในช่วงนี้ขอให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ดูแลให้ผอ.โรงเรียนและครูอยู่โรงเรียน ไม่ทิ้งห้องเรียนไปอบรมพัฒนาตนเอง
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของการเปิดเทอมนี้ ขอให้พักการเรียนการสอนที่เน้นเนื้อหาวิชาการ แต่ให้ครูปรับตัวเองเป็นพ่อแม่ เปลี่ยนโรงเรียนเป็นบ้าน เพื่อให้เด็กมีความสุขในการมาโรงเรียน ตนได้มอบหมายให้เขตพื้นที่ฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและประเมินโรงเรียนที่เด็กมาเรียนแล้วมีความสุขปลอดภัย และให้ความช่วยโรงเรียนที่ยังต้องสางส่งเสริม เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองมีความสบายใจในทุกด้าน โดยให้มีเป้าหมายว่าโรงเรียนต้องเป็นบ้านแห่งความสุข และนักเรียนได้เรียนอย่างสนุก เมื่อนักเรียนมีความสุขแล้ว โรงเรียนต้องต่อยอดส่งเสริมนักเรียนในด้านต่าง ๆ โดยดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล เช่น หากพบนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษให้ต่อยอดเสริมความรู้ให้นักเรียนตามความถนัด ส่วนเด็กปกติต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ในบริบทที่ควรจะเป็น และหากพบเด็กพิการ เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เด็กที่มีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ต้องดูแลให้เด็กได้รับการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอัมพร กล่าวอีกว่า ขอให้เขตพื้นที่ฯ ร่วมกับศึกษานิเทศก์ ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน โดยจากข้อมูลวันที่ 10 มิถุนายน 2564 พบว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนในสังกัด จำนวน 29,583 แห่ง และเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนจำนวน ตั้งแต่ 120 คนลงมา จำนวน 14,958 แห่ง ดังนี้ มีโรงเรียนที่มีนักเรียน 0 คน จำนวน 286 แห่ง โรงเรียนที่มีนักเรียน 1-20 คน มี 782 แห่ง โรงเรียนที่มีนักเรียน 21-40 คน มี 2,065 แห่ง โรงเรียนที่มีนักเรียน 41-60 คน มี 3,578 แห่ง โรงเรียนที่มีนักเรียน 61-80 คน มี 3,382 แห่ง โรงเรียนที่มีนักเรียน 81-100 คน มี 2,821 คน โรงเรียนที่มีนักเรียน 101-120 คน มี 2,044 แห่ง
ทั้งนี้ ให้เขตพื้นที่ฯวางแผนผลักดันโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โดยให้เขตพื้นที่ฯ สร้างความเข้าใจกับชุมชน ดึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม และรับรู้ว่าทำไม สพฐ.จึงต้องการสร้างโรงเรียนคุณภาพ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องสร้างโรงเรียนคุณภาพ 1 ตำบล ต่อ 1 แห่ง ดังนั้น ขอให้เขตพื้นที่ฯ ลงไปปักหมุดให้ได้ว่าจะกำหนดโรงเรียนคุณภาพกี่แห่งจึงจะครอบคลุมพื้นที่ของตน
“ถ้าเราขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพชุมชนสำเร็จ จะสามารถตอบโจทย์สังคมได้ว่าโรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพไม่แตกต่างกัน โรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่แม้เด็กจะเหลือน้อยก็ไม่จำเป็นต้องไปยุบ แต่สามารถไปใช้ทรัพยากรร่วมกันกับโรงเรียนคุณภาพชุมชนได้ นอกจากนี้ สพฐ.ต้องการเสนอภาพความสำเร็จ ว่าปัจจุบันนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นำไปสู่การปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น จะเห็นจากสระแก้วโมเดล ที่ประสบความสำเร็จ ในการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ผมจึงชูสระแก้วโมเดล เป็นตัวอย่างให้เขตพื้นที่ฯ อื่น ๆนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป” นายอัมพร กล่าว
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ส่วนข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็ก 286 แห่ง ที่มีนักเรียน 0 คน นั้น มองว่าเป็นภาพความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน เพราะคนในชุมชนไม่ประสงค์ให้ลูกหลานไปเรียนโรงเรียนเหล่านั้นแล้ว โดยผู้ปกครองให้นักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนคุณภาพชุมชนแทน ส่วนการยุบโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนอยู่ เขตพื้นที่ ฯ จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง คนในชุมชนและดูบริบทหลายอย่าง เช่น คนในชุมชนยังไม่อยากให้ยุบ หรือที่ดินของโรงเรียนบางแห่งได้รับบริจาคมา หรือเป็นที่ดินของหน่วยงานอื่น เป็นต้น ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องหารือร่วมกัน ว่าจะนำโรงเรียนเหล่านี้ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างในอนาคต เช่น เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย เป็นต้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565