รศ.สุรวาท ทองบุ รองประธานคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... คนที่หก รับยื่นหนังสือจาก นายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย รักษาการเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.)
วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2565 เวลา 10.35 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา รศ.สุรวาท ทองบุ รองประธานคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... คนที่หก รับยื่นหนังสือจาก นายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย รักษาการเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เรื่อง ให้เพิ่มองค์ประกอบและปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อการพัฒนาประเทศ แต่ในองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลับขาดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ คือ การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยไม่มีภาคส่วนที่สำคัญที่สุดมาเป็นองค์ประกอบ คือ ผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญต่อการนำไปสู่การปฏิบัติของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยังไม่เอื้อต่อการกระจายอำนาจให้หน่วยงานการศึกษามีอำนาจในการบริหารจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง แต่เป็นในลักษณะการรวบอำนาจการตัดสินใจไว้ในคณะกรรมการเกือบทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าตลอดจนเป็นการเหนี่ยวรั้งการปฏิรูปการศึกษาโดยไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของทักษะการเรียนรู้แห่งอนาคต ในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น เพื่อให้องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมีความเหมาะสมและสมบูรณ์ที่สุด ค.อ.ท. จึงขอเสนอให้คณะ กมธ. ดำเนินการ ดังนี้
1. ปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการให้เอื้อต่อการกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานการศึกษาสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างอิสระและคล่องตัวโดยยึดหลักการเอกภาพทางนโยบาย
2. เพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการ โดยให้มีผู้แทนของผู้กอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่สุดที่จะได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหน่วยงานการศึกษาต่อนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านได้มีข้อมูลสำคัญเพียงพอต่อการกำหนดนโยบายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
รศ.สุรวาท ทองบุ กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ประกอบวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. ซึ่งกำลังพิจารณาในมาตราที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว โดยหากมีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานต่อสื่อมวลชนในคราวต่อไป
ที่มา ข่าวสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 มิ.ย. 2565