เทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน นอกจากเทศกาล “ตรุษจีน", เทศกาล “ไหว้พระจันทร์”, เทศกาล “เชงเม้ง” แล้ว ยังมีเทศกาล "ไหว้บะจ่าง"
ตามปฎิทินจันทรคติของทุกปี เป็นวัน โหงวเว่ยโจ่ว ในปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2565 ตามปฏิทินสากล เป็นเทศกาลวันไหว้ "บะจ่าง" หรือ "เทศกาลตวนอู่เจี๋ย" 端午节 (duānwŭjié)
เทศกาลบะจ่าง มีที่มาจาก 2 ประเพณี คือ การบูชาเทพเจ้ามังกร และ ประเพณีแข่งเรือมังกร Dragon Boat Festival
ชาวไป่เยว่ 百越族 ที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงช่วงกลางลงไปตอนใต้ มีการเดินทางด้วยเรือที่ทำจากไม้ท่อนเดียว และมีการแข่งพายเรือมังกร
เพื่อแสดงความเคารพบูชา เทพเจ้ามังกร มีการนำเอาอาหารใส่ลงกระบอกไม้ไผ่ หรือห่อด้วยใบไม้แล้วโยนลงน้ำ ให้เทพเจ้ามังกรช่วยปกป้องคุ้มครองลูกหลาน
ในปี 278 ก่อนคริสต์ศักราช กวีตงฉิน ชวีหยวน ได้ถูกฮ่องเต้ที่หลงเชื่อขุนนางกังฉิน เนรเทศออกนอกเมือง จึงมากระโดดน้ำตายที่แม่น้ำ เล่ยหลัวเจียง ในวันที่ 5 เดือน 5
ชาวบ้านที่รักต่างลงไปงมหาศพ แล้วนำข้าวห่อใบไผ่โยนลงไปในน้ำให้ฝูงปลามากินแทนจะไปกินศพของเขา และเล่าเรื่องราวสืบต่อกันมาเป็น "วันกวีแห่งชาติ" ระลึกถึง “กวีชวีหยวน” ขุนนางตงฉินแห่งแคว้นฉู่
ตั้งแต่ ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา รัฐบาลประเทศจีน ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุด ต่อมาปี ค.ศ. 2009 เทศกาลบะจ่าง ก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ของ UNESCO
"บะจ่าง" เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหารให้เก็บไว้ทานได้นาน ด้วยการนำข้าวเหนียวมาห่อใส่ใบไผ่ และนำไปต้ม
ไส้ของบะจ่าง มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศจีน เช่น ทางเหนือ จะทำไส้ถั่วแดง, พุทราแดง
ส่วนทางใต้ จะมีส่วนผสมมากมาย ทั้ง เนื้อ, ไข่แดง, เห็ด, แปะก๊วย แต่ลักษณะการห่อจะเหมือนกันคือ รูปทรงสามเหลี่ยม
ในวันที่ 5 เดือน 5 ชาวจีนจะตั้งโต๊ะนำบะจ่างไปไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เจ้าที่ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์
แนะนำให้ไหว้บะจ่างเป็นเลขคู่ เช่น 2 ลูก, 4 ลูก, 6 ลูก หรือ 8 ลูก
ถ้าไหว้ขอพรเรื่องใหญ่ ๆ ควรไหว้ด้วย บะจ่าง 8 ลูก ผลไม้ 5 อย่าง น้ำชา 5 ถ้วย
ผลไม้มงคล ได้แก่ ส้ม, แอปเปิ้ลแดง, สาลี่, แก้วมังกร, กล้วยหอม
ธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก (ธูป 5 ดอก หมายถึง ครู, อาจารย์, พ่อ, แม่, สิ่งศักดิ์สิทธิ์)
ขอบคุณที่มาจาก กรุงเทพธุรกิจ