เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแนวทางการปรับปรุงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ประกอบด้วย 1.ระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กำหนดให้มีใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และ 2.ระบบการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-icense)
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า โดยหลักการร่างแนวทางดังกล่าวกำหนดว่า ทุกคนที่จบสายครูจะได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอนโดยอัตโนมัติ เพื่อนำไปใช้ในการสอบบรรจุครูผู้ช่วย และเมื่อได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยแล้ว จะมีระยะเวลา 2 ปี ในการพัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนฐานะจากครูผู้ช่วยมาเป็นครู ซึ่งต้องเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น โดยกำหนดให้มีการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู (PCK และทักษะวิชาชีพครู) และ วิชาที่สอน (Content พื้นฐาน) โดย แบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้ ปฐมวัย การศึกษาพิเศษ วิชาบูรณาการ วิชาเฉพาะ (ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) และ อาชีวศึกษา (ตามหลักสูตรการอาชีวศึกษา แยกตามสาขา/แขนง) และเมื่อได้ B-icense แล้ว ครูจะต้องมีการพัฒนาตนให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อให้ได้วิทยฐานะและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Professional Teaching License : A-license)
“การปรับครั้งนี้ถือเป็นการรื้อระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใหม่ โดยมี 3 หลักการ คือ 1.ยืดหยุ่น ให้คนที่จบสายครูทุกคนมีโอกาสสอบบรรจุเข้ารับราชการครูได้ 2.ต้องการปรับระบบให้เทียบเคียงกับนานาชาติ และ 3.เชื่อมโยงระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ของคุรุสภา กับระบบวิทยฐานะ ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้เป็นระบบเดียวกัน และเป็นการพัฒนาระบบวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่องและราบรื่นที่สุด” น.ส.ตรีนุช กล่าวและว่า ทั้งนี้จะมีการนำร่างแนวทางดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ก่อนกลับเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาอีกครั้ง”
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 26 พฤษภาคม 2565
Advertisement
26พ.ค.65-นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่ เนื่องจากที่ประชุมเห็น ว่า เมื่อผู้เรียนที่จบจากคณะครุศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาชีพครูมาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาขอสอบ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอีก จนทำให้เกิดขั้นตอนการขอที่ยุ่งยาก และเมื่อสอบบรรจุข้าราชการแล้วก็ต้องมาสอบขอใบดังกล่าวด้วยเช่นกัน อีกทั้งผู้เรียนจากคณะครุศาสตร์ก็ถือว่าได้เรียนหลักสูตรวิชาชีพครูครอบคลุมทุกด้านอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อนักศึกษาที่จบจากคณะครุศาสตร์จากนี้ไปจะได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) อัตโนมัติทันทีเมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าว จากนั้นเมื่อสอบบรรจุข้าราชการครูคุรุสภาจะดำเนินการเชื่อมโยงระบบกับสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อนำไปสู่การขอและเลื่อนวิทยฐานะได้ ดังนั้นเมื่อผ่านการสอบครูผู้ช่วยแล้วจะต้องผ่านเบสิคไลเซนส์ ได้แล้วก็จะไล่ลำดับต่อไป
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่นั้น ได้กำหนดให้มีใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) ซึ่งจำแนกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-license) ได้ตอนสอบบรรจุข้าราชการ ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นกลาง (Intermediate Professional Teaching License :I-license) ได้เมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากครูผู้ช่วยเป็นข้าราชการครู และ 3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Professional Teaching License : A-license) จะได้ต่อเมื่อเสนอเรื่องขอและเลื่อนวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยมีระบบการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-icense) กำหนดให้มีการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู (PCK และทักษะวิชาชีพครู) 6 วิชาที่สอน (Content พื้นฐาน) โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้ ปฐมวัย การศึกษาพิเศษวิชาบูรณาการวิชาเฉพาะ (ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) อาชีวศึกษา ตามหลักสูตรการอาชีวศึกษา แยกตามสาขา/แขนง ทั้งนี้ ความรู้ในวิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิซาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และวิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นสาระความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู จะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์บังคับของการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา เพื่อการประกอบวิชาชีพครู และการรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงเรื่องดังกล่าวคุรุสภาได้มีการประชาพิจารณ์ในกลุ่มผู้ผลิตครูเห็นด้วยในหลักการนี้ร้อยละ 90 และกลุ่มผู้ใช้ครูเห็นด้วยร้อยละ 95 และยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนในการดำเนินการ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2565