วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
ตามที่หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา (ว 8/2562) ข้อ 5 ได้กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกฯ ดังกล่าว แล้วแต่กรณี เมื่อส่วนราชการดำเนินการแล้วให้เสนอ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ นั้น สำนักงาน กศน. จึงได้ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการ ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า รายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกฯ ที่สำนักงาน กศน. เสนอ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด (ว 8/2562) และสอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่ง และมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา (ว 3/2564) จึงเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าว ตามที่ กศน. เสนอ โดยองค์ประกอบในการคัดเลือกมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ภาค ก ความรู้ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ (100 คะแนน)
- ภาค ข ประวัติ ประสบการณ์ และผลงาน (100 คะแนน)
- ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (100 คะแนน)
(สำหรับการประเมินภาค ค ในส่วนของการสัมภาษณ์ ให้พิจารณาจากองค์ประกอบโดยประเมินจากเจตคติและอุดมการณ์ของการเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ภาวะผู้นำและการตัดสินใจ แนวคิดการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงาน บุคลิกภาพ และปฏิภาณ ท่วงที วาจา)
เกณฑ์การตัดสิน
- ผู้ผ่านการคัดเลือก ภาค ก ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ จึงมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ข และ ภาค ค
- ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนนแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ โดยให้ประกาศรายชื่อเรียงตามลำดับผู้ที่ได้คะแนนรวมทั้ง 3 ภาค จากมากไปหาน้อย โดยแยกตามตำแหน่งแล้วแต่กรณี
เงื่อนไขระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก
- ไม่เกินสองปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก เว้นแต่มีประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกครั้งใหม่ บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกครั้งก่อนเป็นอันยกเลิก
ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกสายงาน (ว 3/2564) โดยในคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะ ได้กำหนดการลดระยะเวลาดำรงตำแหน่งจาก 4 ปี เหลือ 3 ปี ตามเงื่อนไขที่ ก.ค.ศ. กำหนด พร้อมทั้ง ได้กำหนดการลดระยะเวลาตามเงื่อนไขคุณสมบัติเฉพาะสำหรับวิทยฐานะของผู้ขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ สายงานการสอน สายงานบริหารสถานศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา (ว 4/2564) โดยในสายงานการสอน และสายงานบริหาสถานศึกษา กำหนดผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขข้อ 1.2 ว่า “เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่มีความยากลำบาก โดยเป็นพื้นที่ที่เป็นเกาะ หรือบนภูเขาสูง หรือหุบเขา หรือเชิงเขา ที่ไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะใด ๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเหตุอื่น ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่พิเศษ ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ทั้งนี้ หากได้รับการแต่งตั้งให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะตามเงื่อนไขข้อนี้ไปแล้ว และได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่พิเศษต่อเนื่องไปอีก ไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็สามารถใช้เงื่อนไขข้อนี้ขอลดระยะเวลาในการขอเลื่อนวิทยฐานะ ในวิทยฐานะถัดไปได้”
ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ควรจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษเพื่อให้ครอบคลุมกับบริบทของสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าว โดยให้นำประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสำนักงานในพื้นที่พิเศษ มาประกอบการพิจารณาการกำหนดหลักเกณฑ์ด้วย เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ
ตามที่คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ได้กำหนดแนวทางการนำประมวลจริยธรรมไปใช้บังคับให้ครอบคลุมไปถึงคณะกรรมการ และคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติรับทราบการจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ครอบคลุมถึงคณะกรรมการ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 และมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมครั้งดังกล่าว ก.ค.ศ. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้จัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงต้องมีแนวทางปฏิบัติในการนำประมวลจริยธรรมไปใช้บังคับให้ครอบคลุมถึงคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนคณะกรรมการที่กฎหมายกำหนด โดยนำหนังสือคณะกรรมการมาตรฐานจริยธรรม ที่ นร (กมจ) 1019/ว3 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่องแนวทางการบังคับใช้ประมวลจริยธรรมให้ครอบคลุมถึงคณะกรรมการ มาใช้และอาจเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสรุปสาระสำคัญของแนวปฏิบัติได้ดังนี้
1. ให้ใช้บังคับครอบคลุมถึงคณะกรรมการ ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐ ในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย
2. กรรมการต้องยึดถือปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐของหน่วยงานที่ตนเองสังกัดด้วย ในกรณีกรรมการที่กำหนดในลักษณะที่เป็นชื่อตำแหน่งผู้แทนของตำแหน่ง ผู้แทนของหน่วยงานของรัฐ และผู้แทน ของคณะกรรมการ ให้ยึดถือและปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมสาหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐของหน่วยงานที่ตนเองสังกัดเป็นพื้นฐาน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทนั้น ๆ ที่คณะกรรมการต้องถือปฏิบัติเพิ่มเติมด้วย
3. มาตรการในกรณีที่กรรมการมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม หรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม กรณีที่มีบทลงโทษ (Sanction) ผู้พิจารณาดำเนินการตามกระบวนการรักษาจริยธรรมให้คณะกรรมการ ที่มอบหมายผู้แทนเป็นผู้พิจารณาตามกระบวนการรักษาจริยธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4. ให้นำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้บังคับกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หน่วยงานของรัฐว่าจ้างมาเพื่อปฏิบัติงาน ทั้งในกรณีของการจ้างบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ปฏิบัติงานในสาขาวิชาที่มีลักษณะเฉพาะ รวมถึงการจ้างบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของหน่วยงาน หรือเป็นการจ้างเพื่อปฏิบัติงานสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาล หรือการบริหารงานขององค์กร รวมถึงมีผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ การเชิญบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานในภารกิจสำคัญดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ โดยให้นำการประพฤติปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมหรือข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ ไปกำหนดไว้ในข้อตกลงการจ้างหรือสัญญาจ้างด้วย
5. ให้มีการปฐมนิเทศ หรือจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับประมวลจริยธรรม เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสร้างการตระหนักรู้ให้แก่คณะกรรมการ เพื่อเป็นการส่งเสริมและป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม หรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ. วันที่ 26 พฤษภาคม 2565