25พ.ค.65-นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวในรายการพุธเช้าข่าว สพฐ. สัญจร ว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ว่า ในช่วงระยะเวลา 2 ปีกว่า ปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 มีจำนวนมากและเราจะทำอย่างไรกับปัญหาตรงนี้ เราได้เรียนรู้ถอดบทเรียนจากปัญหาทั้ง 2 ปีกว่าที่ผ่าน คือ การเรียนรู้มีหลายวิธี จากการแพร่ระบาดดของโควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดเรียน ทำให้เราค้นพบรูปแบบการเรียนการสอน 5 รูปแบบ คือ On site Online On-air On demand และ On hand และทำให้พบว่าการเรียนที่ดีที่สุด คือ On site เพราะนักเรียนกลับเรียนที่โรงเรียน ครูจัดการเรียนการสอนได้ง่าย ผู้ปกครองพึ่งพอใจ แต่สิ่งที่ท้าทายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือ เรียนอย่างไรจึงจะปลอดภัย โดยการเชิญชวนผู้ปกครอง นักเรียน ฉีดวัคซีน ปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 และการจัดการเรียนการสอนอย่างไรเด็กจึงจะมีความสุขตามที่สังคมคาดหวัง ซึ่งนักเรียนต้องพร้อม ครูพร้อม ผู้ปกครองพร้อม ได้เห็นทุกภาคส่วนมีรอยยิ้มที่ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนและปรับตัวเพื่อที่จะอยู่กับสถานการณ์นี้ให้ได้
“ผมอยากให้ความมั่นใจกับทุกคน ว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ให้นโยบายว่า ศธ.ต้องการที่จะเห็นความไว้วางใจ มอบหัวใจไว้ที่ผู้บริหารสถานศึกษาและครู เพื่อที่จะให้มีหัวใจดวงเดียวกันและทำเพื่อเด็กที่อยู่ในมือเราได้มีความสุขทั้งกาย ใจและสุขที่ได้เรียนรู้ อีกทั้งยังจะต้องทำโรงเรียนให้เป็นบ้าน ทำโรงเรียนให้ปลอดภัย ทำให้เด็กร้องไห้อยากมาโรงเรียน จากระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราเห็นชัดเจน คือ เรื่องความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่จะทำเพื่อเด็ก และผลสำเร็จจะอยู่ที่การลงมือทำ ซึ่งผมอยากเห็นผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียนให้เป็นวันทีม ร่วมมือกันจับปัญหา สะท้อนปัญหาลงมือแก้ไขและดึงผู้ปกครอง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา”เลขาฯ กพฐ.กล่าว
นายอัมพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การที่เราจะสร้างเด็กไทยให้ฟื้นใหม่ จากที่ขาดโอกาสการเรียนรู้ไป 2 ปีกว่า ไม่ใช่เรื่องหนักหนาสำคัญที่ระยะเวลาที่เหลือที่ต้องร่วมกับซ่อม เสริม เต็มอะไรให้แก่เด็ก ตนไม่ต้องการให้ครูเอาอารมณ์ตัวเองมาเป็นหลัก ต้นทุนมนุษย์มีไม่เหมือนกัน อยากให้ครูทุกคนมองเด็กเหมือนการปลูกต้นไม้แม้จะเป็นพันธุ์เดียวกันแต่ความแข็งแกร่งไม่เหมือนกัน รากไม่เจริญงอกงามเท่ากัน แต่ถ้าครูเข้าใจและบ่มเพาะโดยใช้ความรักและต่อยอด เราจะสร้างเด็กให้พัฒนาไปได้โดยใช้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกช่วงวัย เพื่อสร้างอนาคตเด็กไทย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565