เป็นพืชตระกูลตะบองเพชรชนิดหนึ่ง ปัจจุบันกลายเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการปลูกเชิงการค้า และได้รับความนิยมบริโภคไม่แพ้ผลไม้ชนิดอื่น โดยเฉพาะสุภาพสตรีส่วนใหญ่ใช้บริโภคเพื่อลดน้ำหนัก (ลดความอ้วน) เมื่อมีคนใดคนหนึ่งสามารถลดน้ำหนักได้จริง ทำให้มีการใช้ผลแก้วมังกรนี้เป็นองค์ประกอบของการควบคุมน้ำหนักของสุภาพตรี ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ คุณสมบัติของแก้วมังกรมีพอสมควร โดยมีสารมิวซิเลจ (Muciage) สารพวกนี้เป็นโพลีแซกคาไรด์เชิงซ้อน มีลักษณะคล้ายวุ้น หรือเยลลี่ ช่วยดูดน้ำตาลกลูโคส โดยเฉพาะในคนที่เป็นเบาหวาน โดยไม่พึ่งอินซูลิน ลดไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นในเลือดต่ำ เพิ่มธาตุเหล็กอีกด้วย
ไม่ว่าจะปลูกแบบสวนหลังบ้านหรือเพื่อการค้า จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการจัดการบ้าง การจัดการแก้วมังกรนั้นไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้ที่สนใจ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ที่คิดจะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตโดยไม่ใส่ใจอะไรเลย
สำหรับบทความนี้จะนำเสนอวิธีการตัดแต่งกิ่งแก้วมังกร ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการผลิตแก้วมังกรที่ให้ผลผลิตแล้ว อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เพื่อให้ออกดอกติดผลที่มีคุณภาพดี เนื่องจากมีเกษตรกรหลายรายปลูกแก้วมังกรแล้วมีปัญหาเรื่องการออกดอก หรือออกดอกแล้วไม่ติดผล
คือช่วยเสริมสร้างให้แก้วมังกรมีผลผลิตดีขึ้นถึง 25-30 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่านี้แล้วแต่สภาพพื้นที่ปลูก ดังนั้น การตัดแต่งกิ่งจำเป็นต้องทำทุกปี เพื่อให้ผลผลิตแก้วมังกรเกิดขึ้นกับกิ่งที่แตกใหม่ซึ่งยังสาวอยู่กิ่งมีความ สมบูรณ์มากที่สุด
นอกจากนี้ การพรวนดินหรือการสับรากออกบางส่วนเป็นการตัดแต่งรากไปในตัวด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลกันระหว่างยอดและรากที่เกิดใหม่ การตัดแต่งรากนั้นจะตัดห่างจากโคนต้น ประมาณ 30 เซนติเมตร
รายละเอียดจะกล่าวต่อไปในขั้นตอนวิธีการตัดแต่งกิ่งและราก บริเวณที่ตัดแต่งรากจะเป็นบริเวณที่ให้ปุ๋ย (ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี) ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีรากใหม่เกิดขึ้น
ทำได้ดังนี้
หลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่งทันที โดยเลือกกิ่งที่เสียหายโดยมดทำลาย หรือกิ่งที่เกิดซ้อนทับกันมากๆ ออก ให้มีช่องว่างและสัดส่วนพอดี ไม่มากเกินไป เพราะว่าจะทำให้ค้างรับน้ำหนักมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ให้สับรากบริเวณโคนต้นห่างจากโคนต้นประมาณ 30 เซนติเมตร รอบโคนต้นด้วย แล้วใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี บริเวณที่สับราก
การตัดแต่งกิ่งโดยการตัดกิ่งที่ให้ผลผลิตแล้ว โดยการตัดออกประมาณ 50 เซนติเมตร ของความยาวกิ่ง แต่ถ้ากิ่งยาวไม่ถึงก็ให้ตัดเกือบชิดข้อที่แตกออกมาจากกิ่งเดิม
คือ
แบบที่หนึ่ง ตัดออก 50-60 เปอร์เซ็นต์ ของกิ่งที่มีอยู่ จะทำให้การเกิดกิ่งใหม่เร็วขึ้นและสมบูรณ์
แบบที่สอง การตัดแบบโกร๋น คือตัดออกหมดทั้งต้น การตัดแต่งแบบนี้ต้นต้องมีเวลาเลี้ยงกิ่งสะสมอาหารนานกว่าตัดแบบแรก คือควรตัดให้เสร็จประมาณกลางเดือนมกราคม และจะออกดอกได้ในเดือน พฤษภาคมเช่นเดียวกัน แต่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยมากกว่าแบบแรก แต่ถ้าจะให้ออกดอกติดผลในฤดูกาล ให้ตัดกิ่งให้เสร็จก่อนกลางเดือนกุมภาพันธ์ และจะออกดอกประมาณต้นเดือนพฤษภาคม แล้วสามารถเก็บผลได้กลางเดือนกรกฎาคม
หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้ว ต้องให้เวลาต้นเลี้ยงกิ่งใหม่ไม่ต่ำกว่า 4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่กิ่งนั้นยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร และมีอาหารสะสมเพียงพอสำหรับการออกดอก การตัดกิ่งแบบที่สอง สามารถนำมาใช้ได้กับการผลิตนอกฤดูกาลคือในเดือนกันยายน ระยะนี้เริ่มตัดแต่งกิ่งได้เลย แต่ควรตัดออกเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ของกิ่งที่มีอยู่ เพื่อให้กิ่งที่เหลืออยู่สร้างอาหารให้กับกิ่งที่กำลังจะแตกออกมาได้มากขึ้น หลังจากนั้น ในเดือนมกราคมก็สามารถเร่งการออกดอกได้ อาจจะเร่งด้วยไฟฟ้า หรือใช้ฮอร์โมนป้ายก็ได้ผลดี
อย่างไรก็ตาม จากการทดลองเบื้องต้นของผู้เขียนพบว่า กิ่งที่เกิดใหม่มีอายุเพียง 2 เดือนครึ่ง และจะเร่งการออกดอกในช่วงหน้าหนาว โดยการป้ายฮอร์โมนที่ตาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตาที่แตกออกมาส่วนใหญ่เป็นตาใบ จึงไม่แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการแตกตากับกิ่งที่มีอายุน้อยๆ
หมายเหตุ พื้นที่ปลูกของแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันด้านสภาพภูมิอากาศ สภาพความสมบูรณ์ของดิน บทความนี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเท่านั้น เกษตรกรควรนำไปประยุกต์หรือปรับปรุงให้เข้ากับสวนของตัวเอง ผู้อ่านท่านใด สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์วินัย วิริยะอลงกรณ์ สาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 50290 โทร. (053) 873-387-9 ในวันและเวลาราชการ
ขอบคุณที่มาจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน