20 พ.ค.2565 ที่รัฐสภา นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ( ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... แถลงว่า ที่ประชุมกมธ.เสียงข้างมาก 12 ต่อ 11 เสียง ไม่คิดเบี้ยปรับ กรณีลูกหนี้ กยศ. ผิดนัดชำระหนี้คืนกองทุน เพื่อเป็นการลดภาระให้กับลูกหนี้กองทุน กยศ. ที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ส่วนเหตุผลของ กมธ.เสียงข้างน้อย ที่สงวนความเห็นให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงินของผู้กู้ เกรงว่าถ้าไม่มีการปรับเบี้ยเลย ผู้กู้จะปล่อยปละละเลยการชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งจะกระทบต่อผู้กู้ที่เป็นรุ่นต่อไป จะไม่มีเงินให้กู้เพื่อเรียนต่อ ซึ่งร่างพ.ร.บ. ฉบับของครม. และร่าง พ.ร.บ. ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ปรับลดเบี้ยปรับจากร้อยละ 18 ต่อปี ในกฎหมายปัจจุบัน เหลือเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ถือว่าเป็นการลดภาระเบี้ยปรับค่อนข้างมากอยู่แล้ว
นอกจากนี้กมธ. ยังได้มีมติให้ผู้กู้เงินกองทุน กยศ. มีสิทธิประโยชน์ จากระยะเวลาปลอดหนี้ เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่สำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษา
สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้กยศ. กมธ.มีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยจากกฎหมายปัจจุบันที่คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 0.25 ต่อปีไปแล้ว โดยปรับลดจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับของครม. และร่าง พ.ร.บ.ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุไว้ ร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อบรรเทาภาระทางเศรษฐกิจของผู้กู้
ส่วนผู้ค้ำประกันเงินกู้ กยศ.กมธ. อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยกเลิกไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกัน เช่น บิดา มารดา คุณครู โดยให้นักเรียนนักศึกษาค้ำประกันตนเอง
“แต่อาจจะให้มีผู้ค้ำประกันเฉพาะกรณีกู้เพื่อเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอก ที่มีวงเงินกู้ค่อนข้างสูงเท่านั้น ซึ่งคณะ กมธ.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้การศึกษา เป็นมาตรการแก้ไขความเหลื่อมล้ำของประชาชนเนื่องจากการศึกษาเป็นการสร้างทุนมนุษย์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ครอบครัวและประเทศชาติ หากผลการพิจารณาเป็นเช่นใด จะนำมาแถลงข่าวในครั้งต่อไป” โฆษก กมธ.เงินกู้กยศ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565