ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะกำกับดูแลสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า หลักสูตรการศึกษาของชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีเพียงหลักสูตรเดียว คือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ส่วนกระแสข่าวที่ว่าจะนำหลักสูตรใหม่ หรือหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ ตนก็ยังไม่เข้าใจ เพราะตอนนี้เราก็จัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งสู่สมรรถนะอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีการปรับการจัดการเรียนรู้ เพราะเราติดตำรามากเกินไป ทำให้เวลาเรียนกับเนื้อหาที่จะใส่เข้าไปไม่สอดคล้องกัน นักเรียนจึงไม่มีเวลาคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าครูรวมกลุ่มคุยกัน (PLC) และบูรณาการให้เป็นหน่วยการเรียนรู้เหมือนที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ก็จะทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข สนุกเพราะเรียนรู้เรื่อง
“จริงๆแล้วส่วนที่เป็นปัญหาไม่ใช่ตัวหลักสูตร แต่เป็นส่วนของการนำไปใช้ เพราะฉะนั้นเมื่อปัญหาเป็นส่วนของการนำไปใช้ก็ต้องปรับให้ถูกจุด คือ ไปปรับที่พื้นที่ ซึ่งถ้าทำได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร จะไปถึงสมรรถนะได้ และไม่ทำให้ครูสับสนด้วย” ดร.เกศทิพย์กล่าวและว่า สิ่งที่กังวลกันคือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) มีตัวชี้วัดจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปดูตัวชี้วัดแต่ให้ไปดูตามมาตรฐาน จะทำให้การติดเนื้อหาจากตัวชี้วัดน้อยลง ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความหมาย ซึ่งเด็กไทยที่คว้า 1 ใน 6 รางวัลสูงสุด จากเวที “Regeneron ISEF 2022” การประกวดโครงงานของนักเรียนมัธยมศึกษา ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆนี้ ก็เป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนแบบ Active Learning.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 18 พ.ค. 2565