ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมทำนอกเหนือจากการทำบุญ ตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม คือ การเวียนเทียน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยมักจะยืดถือปฏิบัติกันด้วยเช่นกัน แต่การเวียนเทียนไม่ได้เวียนทุกวันสำคัญทางศาสนา แล้ววันสำคัญทางศาสนาวันไหนที่เราจะสามารถเวียนเทียนได้ และที่สำคัญขั้นตอนการเวียนเทียนที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไรบ้าง ไปดูวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องกัน
การเวียนเทียน คือ การเดินเวียนรอบปูชนียวัตถุสำคัญ หรือปูชนียสถานทางศาสนา เช่น พระอุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และเพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในวันสำคัญ โดยเป็นการ เวียนประทักษิณาวัตร คือ เวียนขวา 3 รอบ เป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออก ซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างสูงสุด
ประเทศไทยได้รับคติการเวียนเทียนนี้มาจากอินเดีย พร้อมกับพระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้ามา โดยปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพโดยการเวียนเทียนในพระไตรปิฎก ซึ่งปรับประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของไทย เป็นการแสดงความบูชาต่อพระรัตนตรัยมาตั้งแต่โบราณ มีหลักฐานปรากฏเป็น ฐานประทักษิณ สำหรับการกระทำพิธีเวียนเทียน ในโบราณสถานทางศาสนา มาตั้งแต่สมัยทวารวดี รวมทั้งปรากฏข้อความในพงศาวดารว่ามีการกระทำพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
การเวียนเทียน จะทำในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 4 วัน ได้แก่
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนของทุกปี ความสำคัญของวันมาฆบูชาคือ พระสงฆ์ 1,250 รูป ที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ตามแคว้นต่างๆ กลับมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือนมิถุนายน ความสำคัญของวันวิสาขบูชาคือ เป็นวันที่มีขึ้นเพื่อระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ทั้ง 3 เหตุการณ์
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือประมาณเดือนกรกฎาคม ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาคือ วันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
วันอัฏฐมีบูชา คือ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือน 7 นับถัดจาก วันวิสาขบูชาไป 7 วัน เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่เมือง กุสินารา เป็นวันสำคัญที่ระลึกถึงพระพุทธองค์อีกวันหนึ่ง (วัดบางที่จะจัดเวียนเทียน)
1. ชำระร่างกายและจิตใจ
เริ่มแรกควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่ งดใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น เสื้อสายเดี่ยว ควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด กางเกงหรือกระโปรงยาวเลยเข่า
2. เตรียมเครื่องบูชา
เตรียมเครื่องบูชา 3 อย่าง คือ ดอกไม้ 1 คู่ เช่น ดอกบัว ดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ หรือจะใช้พวงมาลัยดอกไม้สำหรับถวายพระก็ได้ ต่อมาก็ธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม
3. ไหว้พระประธาน
เมื่อไปถึงวัด ให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานหลักด้านในโบสถ์ก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียน หัวแถวจะมีพระภิกษุเดินนำ ต่อด้วยสามเณร ท้ายสุดเป็นอุบาสก อุบาสิกา ชายหญิงทั่วไป
4. เวียนประทักษิณาวัตร
จุดธูป เทียน นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้ พนมมือขึ้น แล้วเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือพร้อมสวดมนต์ เวียนเทียนจนครบ 3 รอบ
5. บทสวดมนต์
บทสวดมนต์รอบที่ 1 ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยสวดบทอิติปิโส ดังนี้ “อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ”
บทสวดมนต์รอบที่ 2 ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยสวดบทสวากขาโต ดังนี้ “สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก
อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ”
บทสวดมนต์รอบที่ 3 ให้ระลึกถึงพระสังฆคคุณ โดยสวดบทสุปะฏิปันโน ดังนี้ “สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ”
6. วางดอกไม้ธูปเทียน
หลังจากเวียนเทียนจนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้
7. ข้อควรระวัง
ขณะเดินเวียนเทียนต้องสำรวมทั้งกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย ควรรักษาระยะการเดินทางให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น อาจทำให้บาดเจ็บ และไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่
ข้อมูล : bangkokbiznews.com และ thairath.co.th
ขอบคุณที่มาจาก บุ๊คพลัส