Advertisement
...เมื่อมีความละอายแก่ใจ...ก็ย่อมมีความเกรงใจ...เลยเกิดเป็น...มารยาททางใจ.
( คิดได้ ทำได้ หยุดได้....เมื่อใจสั่ง..!! )
มารยาททางใจ
ผู้มีมารยาททางใจ คือผู้ที่ได้มีการปรับปรุงจิตใจให้ฝักใฝ่ในศีลธรรม คือเราทุกคนย่อมทราบว่าอะไรถูกอะไรผิดด้วยกันทั้งนั้น แลย่อมใฝ่ในคุณงามความดี ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเราไม่ชอบอะไรคนอื่นก็คงไม่ชอบเหมือนกัน จึงตนควรวางตนเป็นคนช่างใช้ความคิดเสมอ ศีลธรรมรวมกันเป็นเครื่องมือ ปรับปรุงความประพฤติทางกายและวาจา ทั้งเป็นเครื่องประคับประคองใจคนให้เที่ยงตรงต่อจุดหมาย คือความดีงามตามสมควรแก่เหตุ กับพิสูจน์ให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยใจตนเอง ตั้งจิตมั่นอยู่ในความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา พร้อมที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข คอยบำบัดทุกข์ของผู้อื่น เพื่อประกอบอาชีพในทางที่ชอบ และมีสติปัญญารอบคอบสุขุม รู้จักสิ่งใดควรประพฤติและสิ่งใดไม่ควรประพฤติ จิตใจย่อมแสดงออกให้ผู้อื่นเห็นโดยทางกิริยา วาจา สุภาพต่อคนทั่วไปจนเป็นที่นิยมเลื่อมใส เคารพนับถือแก่ผู้ที่ได้คบหาสมาคม ยิ่งกว่าผู้ทรงไว้ซึ่งรูปสมบัติหรืออุดมด้วยทรัพย์สมบัติแต่จิตใจทราม
ฉะนั้น บุคคลจึงควรระวังสำรวมความคิดจิตใจ ที่มักจะแสดงออกมาให้เห็นทางกิริยาและวาจาให้ถูกต้องและงดงาม เหมาะกับกาละเทศะ และแก่บุคคลในเวลาอยู่ในสมาคมหรือในที่สาธารณะ ดังต่อไปนี้
บุคคลใดจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีมารยาททางใจ หรือไม่มีมารยาททางใจ ขึ้นอยู่กับมโนกรรมของคนนั้น
มโนกรรม คือการกระทำด้วยใจ มีความคิด ความรู้สึก ความต้องการต่างๆ ทั้งด้านดีและด้านร้าย เช่น ใจมีความเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นอยู่เป็นสุข ใจมีความกรุณาสงสารเมื่อผู้อื่นได้รับความทุกข์ยาก ปรารถนาให้เค้าพ้นจากความทุกข์ เหล่านี้เป็นตัวอย่างมโนกรรมในด้านดี
ถ้าเป็นมโนกรรมในด้านชั่วร้าย ก็ได้แก่ความคิดที่เป็นอกุศล มักโกรธ มักอิจฉาพยาบาท เห็นผู้อื่นได้ดีก็เดือดร้อนใจตนเอง ต้องการให้ผู้อื่นได้ดีขึ้นนั้นถือเป็นความวิบัติล่มจมไปเสีย ดังนี้เป็นต้น
มโนกรรมนี้เอง คือตัวการที่สั่งกายให้แสดงออกมาในกิริยาท่าทางต่างๆ นับตั้งแต่แววตา สีหน้า ท่าทาง และถ้อยคำน้ำเสียง มโนกรรมสั่งการในทางดี กาย วาจา ก็แสดงออกมาในทางดี กิริยาเรียนร้อย วาจาไพเราะ
ถ้ามโนกรรมสั่งการในทางร้าย กิริยา วาจา จะเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม อาจจะถึงแก่ใช้วาจาก้าวร้าวหยาบคายต่อกัน ใช้กำลังกาย กำลังอาวุธ เข้าต่อสู้ประหัตประหารกันถึงล้มตายไป เป็นต้น
รวมความว่า ทุกลักษณะอาการที่กายแสดงออกมาให้ประจักษ์ด้วยตา ทางดีก็ตาม ทางชั่วก็ตาม และไม่ดีไม่ชั่วก็ตาม ล้วนมีต้นเหตุมาจากมโนกรรมก่อนทั้งสิ้น สมกับคำที่เปรียบเทียบกันว่า "ใจเหมือนนาย กายเหมือนบ่าว"
มโนกรรม มีความสำคัญสุดยอกดังกล่าวแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มโนหรือใจจะต้องได้รับการศึกษา ฝึกฝนอบรมให้มีศีลธรรม
ผู้มีมารยาททางใจ ก็คือผู้ที่มีน้ำใจอันประกอบด้วยศีลธรรม และเป็นผู่ที่ประพฤติการอันเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมนั่นเอง
ผู้มีมารยาททางใจนี้ นอกจากมีพื้นภูมิเดิมติดมาแต่ดั้งเดิมบ้างแล้ว ยังต้องได้รับการอบรมขัดเกลาให้รู้ผิดชอบชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ จากบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ ท่านผู้รู้ทั้งหลายอีกมากมายและทั้งจากการศึกษาที่พบเห็นด้วยตนเอง จากบุคคลและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของชาติ จากคำสอนทางศาสนาที่ตนเคารพนับถือยู่ เป็นต้น
ผู้มีศีลธรรม หรือมีมนุษยธรรมที่เรียกได้ว่าเป็นอารยะชน มีธรรมคือคุณสมบัติดังนี้คือ
มีสุจริต ซึ่งนอกจากกายและวาจาสุจริตแล้ว ต้องมีความสุจริตทางใจ คือคิดสิ่งที่ดีงามถูกต้อง เรียกว่าประพฤติชอบด้วยใจ เช่น ไม่โลภ เพ่งเล็งคิดหาทางเอาแต่จะได้ ไม่คิดร้ายเบียดเบียน ตั้งความปรารถนาดีมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่กัน มีความเห็นอันถูกต้อง
ผู้มีมารยาททางใจ นอกจากต้องเป็นผู้มีศีลธรรมดังกล่าวแล้วยังต้องประพฤติตนอันเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมด้วย
หลักธรรมเป็นแนวปฏิบัติ ดังนี้คือ มีพรหมวิหาร คือธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐ หรือผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่กว้างขวางดุจพระพรหม 4 อย่าง ดังนี้
เมตตา ความรัก ความปรารถนาดี มีไมตรี ต้องการช่วยเหลือให้ทุกคนประสบประโยชน์ ละความสุข
กรุณา ความสงสาร อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ ใฝ่ใจที่จะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์จากความเดือดร้อนของผู้อื่น
มุทิตา ความเบิกบานยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นอยู่ดีมีความสุข ก็มีจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน
อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง มีจิตราบเรียบ ไม่เอนเอียงด้วยรักหรือชัง
เมื่อมีคุณธรรมภายในเป็นพื้นฐานจิตใจเช่นนี้แล้ว ย่อมทำให้การแสดงออกภายนอกเป็นไปอย่างบริสุทธิ์หนักแน่น และจริงจัง
นอกจากนั้นแล้ว ต้องฝึกฝนจิตให้มีความสันโดษ คือ ยินดี พึงพอใจแต่ในลาภผลซึ่งเกิดจากผลงานที่ตนแสวงหามาได้โดยชอบธรรม กำหนดจิตให้มีสติ จำการที่ทำ คำที่พูดแล้วได้ รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่มีความประมาท อันจะทำให้เกิดผิดพลาดเสียหาย ไม่ปล่อยปละละเลยโอกาสที่จะกระทำความดีงาม
เมื่อจิตได้รับการศึกษา ขัดเกลาอยู่เสมอ ก็ยิ่งมีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความจริง รู้จักวินิจฉัยและทำการต่างๆด้วยความคิดและพินิจพิจารณา
ฉะนั้น บุคคลพึงระวังสำรวมความคิด จิตใจที่มักจะแสดงออกมาให้เห็นทางกิริยาและวาจาให้ถูกต้องและงดงาม เหมาะกับกาละเทศะและแก่บุคคลเวลาอยู่ในสมาคม หรือในที่สาธารณะ ดังต่อไปนี้
ในงานมงคลต่างๆ ควรแสดงสีหน้าเบิกบานสดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ
ในเวลาเยี่ยมคนป่วย ควรระมัดระวังกิริยาอาการให้เรียบร้อย ใช้คำพูดที่อ่อนโยนเอาใจผู้ป่วย ไม่พูดอะไรที่จะกระทบกระเทือนใจผู้ป่วย ควรหาเรื่องสนุกสนานมาเล่าสู่กันฟัง การเยี่ยมคนเจ็บป่วย ควรปฎิบัติดังนี้
ถ้าไปโรงพยาบาลควรปฎิบัติตามกฎของโรงพยาบาลโดยเคร่งครัด
ถ้าเป็นโรคปัจจุบัน หรือผ่าตัดใหญ่ จะส่งนามบัตรหรือดอกไม้ก็พอ แต่ถ้าคนไข้อยากพบไม่ควรอยู่นานเกิน 5-10 นาที
ชวนคุยแต่เรื่องที่จะก่อความสดชื่นให้แก่คนไข้ อย่าคุยเรื่องเศร้าสลดใจ จะทำให้คนไข้รู้สึกฟุ้งซ่านใจ
เมื่ออยู่ในห้องคนไข้อย่าลุกเดินไปมา คนไข้จะต้องเหลียวและแหงนหน้า หรือพลิกตัวมาหาท่าน จะทำให้เหน็ดเหนื่อยโดยใช่เหตุ
อย่าทักคนไข้ที่จะทำให้ใจเสีย เช่น ผอมไป บวมมาก หน้าซีด เป็นต้น
ทุกครั้งเข้าเยี่ยมควรแจ้งให้แพทย์ หรือพยาบาลทราบเสียก่อนเพื่อสะดวกแก่คนไข้ อย่าถือวิสาสะเข้าไปตามใจชอบ
ในงานเผาศพ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรแสดงกิริยาสงบและสงวนความรื่นเริงไว้ให้มากกว่าเวลาอื่น เช่น เผาศพแล้ว ไม่ควรยืนจับกลุ่มสนทนาร่าเริงกัน ทักทายกันพอสมควรแล้วกลับ ถ้าจะอยู่เผาจริงควรหาที่สมควรนั่งด้วยความสำรวมระวัง แต่การไปช่วยงานศพของเราในปัจุบันมักจะเห็นกันว่าเป็นการสมาคมอย่างทั่วๆ ไป แขกมักจะอยู่นานโดยถือว่าเป็นกันเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดจับกลุ่มสนทนาออกรสชาดสนุกสนานขึ้น ซึ่งเป็นการผิดมารยาทอย่างยิ่ง สุภาพชนควรรู้ว่าตนเองกำลังอยู่ในสังคมใด สถานที่เช่นใด จึงควรพยายามยั้งใจตนเองให้อยู่ในความพอดีเสมอ เมื่อไปงานศพตามบ้านหรือตามวัดก็ควรแสดงความเคารพต่อผู้ตาย
พุทธศาสนิกชนพึงระลึกไว้เสมอว่า เราเป็นพุทธศาสนิกชนควรปฎิบัติอย่างไร ในสถานที่เช่นใด ให้พยายามตั้งสติไว้ให้มั่นและนึกว่าบัดนี้ตัวเรากำลังอยู่ที่ไหน และกำลังอยู่กับใคร ให้นึกอยู่เสมอมิได้ขาด แม้จะมีเรื่องตลกขบขันของผู้มาในงานก็ไม่ควรแสดงมารยาทอันไม่สุภาพ เช่น หัวเราะออกมาให้ผู้อื่นเห็น
เมื่อไปในงานสวดพระอภิธรรมศพ ผู้มีมารยาทจะทำความเคารพศพย่อมรู้จักแสดงความเคารพให้เหมาะสมตามฐานะคือ ถ้าเป็นศพผู้มีอาวุโส มีฐานะควรหมอบกราบก็หมอบกราบอย่างบุคคลธรรมดา ถ้าเป็นศพที่มีอายุน้อยกว่าหรือผู้น้อยกว่า ก็เพียงยืนหรือนั่งหันหน้าไปทางศพด้วยกิริยาที่สงบเป็นการอธิฎฐานจิตตามพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ในเมื่อได้เห็นศพทุกครั้งให้สำรวมจิต แผ่ส่วนกุศลให้และน้อมใจนึก ดังนี้
อยัมปิโขกาโย แปลว่า กายแม้นี้แล
เอวธัมโม แปลว่า มีอย่างนี้เป็นธรรมดา
เอวภาวี แปลว่า จะต้องเป็นอย่างนี้
เอวอนตีโต แปลว่า จะล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้
เวลาเดินขึ้นเมรุเผา ต้องเตรียมธูปเทียนอย่างละดอกห่อเรียบร้อยใส่มาในกระเป๋าจากบ้าน หรือในงานรดน้ำศพก็ดี ควรมีน้ำอบไทยใส่ขวดเล็กๆ ไปจากบ้าน ไม่ใช่ไปใช้ธูปเทียนหรือน้ำอบของเจ้าภาพซึ่งเขาเตรียทไว้เผื่อขาดเหลือสำหรับแขกบางคนที่จำเป็นจริงๆ ไม่มีเวลาจะหาหรือเตรียมมาไม่ทัน
ควรเดินในท่าสำรวมเรียงลำดับเป็นแถว ต้องรู้จักรอคอย ไม่เบียดหรือแย่งขึ้นหน้า ไม่พูดคุยเสียงดังจนเป็นที่รำคาญแก่ผู้อยู่ใกล้เคียง เวลาขึ้นไปวางเครื่องขมาศพหรือใส่ไฟ ควรเรียงเข้าไปเป็นระเบียบทีละคนไม่แย่งหรือรุมกันเข้าไป
ผู้มีมารยาททางใจ ย่อมส่งของคืนให้ผู้อื่นที่ได้สงเคราะห์ให้หยิบยืม
ผู้มีมารยาททางใจ ย่อมเป็นคนตรงต่อเวลาจนเป็นนิสัย
ผู้มีมารยาททางใจ ก่อนจะเข้าห้องผู้อื่นจำเป็นจะต้องเคาะประตูก่อนเสมอ เพราะต้องรู้จักเกรงใจเจ้าของห้อง
ผู้มีมารยาททางใจ ย่อมกล่าว "ขอบใจ" แก่ผู้ที่สงเคราะห์ช่วยเหลือ หรือให้เป็นสิ่งของแก่เราทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กสิ่งใหญ่
ผู้มีมารยาททางใจ ย่อมกล่าว "ขอโทษ" หรือ "เสียใจ" ในเมื่อเราทำอะไรพลั้งเผลอ และฝึกพูดสองคำนี้จนติดปาก
ผู้มีมารยาททางใจ ควรมีจิตเมตตาเผื่อแผ่แก่มิตร ไม่ทำตนเหนียวแน่นจนเกินไป แต่ต้องระวังเลือกสิ่งของให้ปันให้พอเหมาะ แม้จะเป็นสิ่งของเเล็กน้อยไม่มีค่าก็ถือว่าเป็นเครื่องหมายบอกความไมตรีต่อกัน
ผู้มีมารยาททางใจ ย่อมรู้จักละอายใจและมีความเหนี่ยวรั้งใจตนเอง ในเรื่องการกระทำบาปต่างๆ เฉพาะเป็นสตรีย่อมมีความเหนี่ยวรั้งใจตนเองและมีความละอายไม่ประพฤติการอันรู้อยู่แก่ใจว่าไม่เหมาะสมที่สุภาพสตรีจะประพฤติทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านจนเผลอแสดงออกมาทางกายวาจาให้คนรู้ไปถึงความคิดจิตใจอันไม่งามของเรา
ผู้มีมารยาทดี ย่อมรู้จักเกรงใจผู้อื่น ไม่ล่วงเกินผู้ใด แม้ในสิ่งเล็กน้อย เช่น ไม่เข้าไปในขณะที่มีผู้อื่นอยู่ เช่น เข้าไปล้างมือในอ่างล้างตามสถานที่ต่างๆ มีโรงมหรสพ หรือในภัตตาคาร เป็นต้น ควรเกรงใจผู้มาคอยก่อน หรือผู้ที่กำลังใช้อยู่ ควรรอจนเขาเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงจะเข้าไปทำธุระของเรา
แม้ตามบ้านที่ได้รับเชิญไปก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน ต้องพยายามใช้ของให้เรียบร้อย และรักษาให้มีสภาพดังเดิม ไม่ปล่อยให้สกปรกเหมือนไม่ใช่บ้านเรา ต้องราดน้ำหรือชักน้ำโถส้วมเมื่อใช้แล้ว ที่อ่างล้างมือก็เช่นเดียวกัน อย่าปล่อยให้น้ำไหลหยดเลอะเทอะ ตลอดจนแขวนผ้าเช็ดมือให้เรียบร้อย อย่าทิ้งเศษกระดาษหรือผงลงบนพื้นหรือในโถส้วม ควรทิ้งลงในที่ๆ เขาจัดไว้ให้โดยเฉพาะ เช่น เขี่ยบุหรี่ในที่เขี่ยบุหรี่ ถังผงมีไว้ใส่ผง เศษกระดาษเช็ดมือ ฯลฯ หรือบางแห่งอาจมีถังหรือกระป๋องพิเศษสำหรับใส่เสื้อผ้าอนามัยก็ควรจะทิ้งลงให้ถูกที่
ผู้มีมารยาททางใจ ไม่ควรทิ้งเศษของใช้ เช่น ซองบุหรี่ กระดาษเช็ดมือ หรือสิ่งใดๆ ลงบนถนนที่สาธารณะ บนยานพาหนะ เช่น รถไฟ เรือยนต์ บนพื้นศาลาที่พัก เป็นต้น
ผู้มีมารยาททางใจ ควรเข้าใจในคุณประโยชน์ของการทำบุญทำทาน ทำบุญถวายเครื่องบริโภค อุปโภค แด่พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่มีอาชีพทำมาหากินเหมือนผู้อื่น
ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดาผู้ยากจน
ช่วยเหลือผู้ป่วยไข้ที่ขาดแคลน
ทำบุญทำทานแก่ผู้ยากจนด้วยเครื่องปัจจัยสี่ ถ้าได้มีการทำบุญทำทานอยู่เสมอๆ จะทำให้จิตใจของผู้นั้นแจ่มใสเบิกบานอยู่เสมอๆ ทั้งมีร่างกายและสติปัญญาแข็งแรง
สงเคราะห์คนใกล้เคียงทั้งของตนเองและของสามี หรือญาติฝ่ายบิดามารดา และบุตร
ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนที่มีอายุสูง
ช่วยการศึกษาแก่ผู้ขาดแคลน
ช่วยเหลือสมาคม ที่บำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ช่วยเหลือครอบครัวที่มีคุณแก่เรา
....ครูเกรียงกมล ชาญไชย ฝากมา....
ที่มา : หนังสือวัฒนธรรมและประเพณี โดย ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
วันที่ 5 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,183 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,150 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 26,627 ครั้ง |
เปิดอ่าน 29,520 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,999 ครั้ง |
เปิดอ่าน 40,894 ครั้ง |
เปิดอ่าน 19,897 ครั้ง |
|
|