ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น นับเป็นการจุดชนวนปรับเปลี่ยนการศึกษาโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2563 จนเห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในวันนี้ และเป็นจุดเน้นที่สำคัญของ สสวท.
ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รักษาการผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียนเห็นผล และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษา สสวท. จึงได้พัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ พลิกโฉมหนังสือเรียน คู่มือครู และสื่อประกอบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ทุกระดับชั้นในรูปแบบใหม่ รวมถึงมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยได้พัฒนาสื่อ 60 พรรษา และพัฒนาชุดสื่อ 65 พรรษา ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นทางเลือกในการเรียนรู้ที่ช่วยให้ครู และนักเรียนได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้มากขึ้น อีกทั้งสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น
นอกจากการพัฒนาหลักสูตร และสื่อต่าง ๆ แล้ว สสวท. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ มีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพครูเพื่อจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะในทุกพื้นที่ของประเทศ ให้เป็นครูยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นพัฒนา ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวัด และประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) และนำร่องพัฒนาต้นแบบการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะให้แก่โรงเรียน สำหรับการวัดและในการประเมินผลฐานสมรรถนะนั้น สสวท. ร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ปรับรูปแบบข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้เน้นการคิดวิเคราะห์ และการวัดผลเชิงสมรรถนะ ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการวัดและประเมินผลที่เน้นการวัดสมรรถนะ มากกว่าความรู้ ความจำ และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
สสวท. ริเริ่มโครงการ Project 14 เพื่อแก้ปัญหาการเรียนออนไลน์ โดยปี 2565 สสวท. ได้ปรับปรุงเว็บไซต์ Project 14 ให้สามารถตอบสนองต่อการใช้งานได้มากขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “Project 14+” และพัฒนาสู่ระบบ “My IPST” ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินงานในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สสวท. ได้พัฒนาสื่อ และอัพโหลดคลิปการสอนครบทุกหัวข้อตามหนังสือเรียน สสวท. แล้วทั้งสิ้น 2,683 คลิป และมีจำนวนผู้เข้าชมประมาณ 40 ล้านครั้ง และ สสวท. ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการนำสื่อ Project 14 เผยแพร่ผ่านระบบ Digital Education Excellence Platform: DEEP ของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
รักษาการผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวต่อไปว่า “ปี 2565 ต่อเนื่องจนถึงปี 2566 สสวท. กำลังพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ My IPST ให้เป็นช่องทางหลักสำหรับการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อที่จะรองรับการใช้งานของสถานศึกษาทั่วประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองใช้ต้นแบบของระบบ My IPST โดยในอนาคตระบบนี้จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาการเรียนรู้ ศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียน ประเมิน วางแผนการจัดการเรียนรู้ และพยากรณ์อนาคตที่สอดคล้องกับสภาพจริง”
นอกจากนี้ สสวท. ยังให้บริการศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (IPST Learning Space) ที่สอดคล้องกับหลักสูตรในโรงเรียน ประกอบด้วย 3 ระบบหลัก ระบบอบรมครู ระบบการสอบออนไลน์ และระบบคลังความรู้ SciMath ซึ่งปี 2564 มีปริมาณการใช้งานระบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น นับเป็น Sessions ถึง 23.20 ล้านราย สูงขึ้น จากปี 2563 ที่มีปริมาณการเข้าใช้งาน 16.71 ล้านราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป ความต้องการใช้สื่อดิจิทัลทั้งใน และนอกชั้นเรียนเพิ่มมากขึ้นในยุคปัจจุบัน แพลตฟอร์มของ สสวท. ที่พัฒนาขึ้นได้ให้บริการสื่อ และการเรียนรู้รูปแบบใหม่วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น ครูที่ขาดแคลนสื่อการสอน นักเรียนที่ต้องการทดลองสอบข้อสอบของโครงการสำคัญ ครู นักเรียนที่ต้องการสื่อเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้ปกครองที่ต้องการสื่อที่ตรงตามหลักสูตรเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล หรือเสริมการเรียนรู้ให้บุตรหลาน และที่สำคัญการให้บริการดังกล่าวของ สสวท. ไม่มีค่าใช้จ่าย จึงช่วยลดภาระของผู้ใช้งานที่ไม่ต้องไปซื้อหนังสือหรือสื่อ จากแหล่งอื่น ทำให้ได้รับเสียงสะท้อนที่ดีจากผู้ใช้งาน สสวท. ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
“ตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566–2570) ของ สสวท. จะมีการพัฒนาหลักสูตร สื่อ กระบวนการจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะสู่รูปแบบดิจิทัล เน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา เน้นการนำไปใช้ที่ตอบสนองการเรียนรู้รูปแบบใหม่ พัฒนาสื่อสำหรับนักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา พัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในทุกระดับชั้น ส่งเสริมแนวทางการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะในรูปแบบต่าง ๆ และสนับสนุน ให้โรงเรียนได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ สสวท. ได้พัฒนาขึ้น รวมทั้งศึกษากระบวนการวิเคราะห์ Big Data เพื่อพัฒนา AI สำหรับใช้งานในระยะยาว โดยจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสื่อแห่งอนาคตในการศึกษาไทยที่น่าจับตามอง” รักษาการผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) วันที่ 11 พฤษภาคม 2565