สุนทรียรสของบทร้อยกรอง
วรรณคดีและวรรณกรรมที่ควรแก่การยกย่องนั้น ต้องมีคุณสมบัติเด่นๆหลายประการ เช่น ศิลปะในการใช้ภาษา เนื้อหา กลวิธีในการเสนอความคิด ฯลฯ แต่ในที่นี้จะมุ่งกล่าวถึงศิลปะในการใช้ภาษาที่ทำให้ บทร้อยกรองนั้นงดงามอย่างที่เรียกว่า สุนทรียภาพ หรือสุนทรียรส
ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะการเปรียบเทียบแบบอุปมา
การเปรียบเทียบแบบอุปมา (Simile) คือการเปรียบเทียบเพื่อทำให้เห็นภาพหรือเกิดความรู้สึกชัดเจน ดังนั้นอุปมา จึงต้องมี “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” ที่ต้องการจะอธิบายหรือกล่าวถึง และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน จึงต้องนำสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาช่วยอธิบายหรือเชื่อมโยงความคิด ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ง่ายแก่ความเข้าใจว่า อุปมา เป็นการเปรียบเทียบสิ่งที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกัน โดยมีคำมาช่วยเชื่อม คือ ดุจ ดัง ดูราว กล เหมือน ปานประหนึ่ง ราวกับ เฉก ฯลฯ อุปมามีปรากฏในวรรณคดีเรื่องต่างๆ ดังนี้
อุปมา ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบความงามของศกุนตลากับสิ่งต่างๆ ในเรื่องศกุนตลา บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นตอนที่เท้าทุษยันต์ชมความงามของศกุนตลา มีความว่า
ดูผิวสินวลละอองอ่อน มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น
สองเนตรงามกว่ามฤคิน นางนี้เป็นปิ่นโลกา
งามโอษฐดังใบไม้อ่อน งามกรดังลายเลขา
งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า งามยิ่งบุปผาเบ่งบาน
อุปมา ที่ปรากฏใน ลิลิตนิทราชาคริต ราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการสรรเสริญพระบารมีของพระเจ้ากาหลิบที่เปรียบประดุจดวงตะวันส่องโลก แต่เมื่อราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต ปวงประชาซึ่งซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ได้นำโคลงบทนี้มากล่าวสรรเสริญพระองค์อยู่เสมอ ดังปรากฎในวันปิยมหาราช หรือ วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี ข้อความที่กล่าวเป็นอุปมามีดังนี้
บารมีพระมากพ้น รำพัน
พระพิทักษ์ยุติธรรม์ ถ่องแท้
บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน ส่องโลก ไซร้แฮ
ทวยราษฎร์รักบาทแม้ ยิ่งด้วยปิตุรงค์
อุปมา ในพระอภัยมณี ของพระสุนทรโวหาร (ภู่) ที่กล่าวถึงสร้อยสุวรรณ และจันทร์สุดา พระธิดาของพระอภัยมณีกับนางสุวรรณมาลี มีความว่า
ทั้งลูกน้อยสร้อยสุวรรณจันทร์สุดา เหมือนมณฑามาลีซึ่งมีรส
ภุมรินบินเคล้าแม้เจ้าของ ไม่ปกป้องดอกดวงจะร่วงหมด
อันน้ำตาหวานวางไว้ข้างมด มดจะอดได้หรือน้องตรึกตรองดู
อุปมา ในอิเหนา บทพระราชนิพนธ์ในราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กล่าวถึงความรู้สึกของอิเหนา เมื่อพบบุษบาและพบว่าบุษบาเป็นคู่หมั้นของจรกาไปแล้ว เพราะตัวอิเหนามัวหลงใหลจินตราและปฏิเสธการหมั้นหมายบุษบาไปเอง อิเหนาจึงเสียใจมาก ดังความว่า
ฉุกใจได้คิดสิการแล้ว ดังดวงแก้วตกต้องแผ่นผา
รักระกำช้ำจิตเจ็บอุรา ดังว่าจะวายชีวี
อุปมา ใน โคลงนิราศพระบาท ของ พระมหานาค วัดท่าทราย กวีในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ มีความเปรียบเชิงอุปมาเกี่ยวกับ “เนตร สำเนียง และโฉม” ไว้อย่างน่าฟังดังความว่า
สามเล่มราเมศไท้ สังหาร
แม่ก็ทรงสามศร เปรียบท้าว
ท่านผลาญอสุรมรณ์ ลาญชีพ
เจ้าก็ผลาญชายอกร้าว มอดม้วยดูเสมอ
ศรเนตรเสียบเนตรค้น คมขำ
ศรสำเนียงตรึงกรรณ ส่งซ้ำ
ศรโฉมแม่ยิงยัน ยายาก
ต้องผู้ใดอกช้ำ เฉกท้าวสาดศร
อุปมา จากประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นเพลงยาวกลบท พระราชนิพนธ์ในราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ชื่อ กลบทบัวบานกลีบขยาย มีข้อความกล่าวชมความงามของสตรีเปรียบกับความงามของสิ่งต่างๆดังนี้
เจ้างามพักตร์ผ่องเพียงบุหลันฉาย
เจ้างามเนตรประหนึ่งนัยนาทราย เจ้างามขนงก่งละม้ายคันศรทรง
เจ้างามนาสายลดังกลขอ เจ้างามศอเหมือนคอสุวรรณหงส์
เจ้างามกรรณกลกลีบบุษบง เจ้างามวงวิลาสเรียบระเบียบไร
เจ้างามปรางเปล่งปลั่งเปรมปราโมทย์ เจ้างามโอษฐ์แย้มยวนจิตน่าพิสมัย
เจ้างามทนต์กลนิลช่างเจียระไน เจ้างามเกศดำประไพเพียงภุมริน
เจ้างามปีกดัดทรงมงกุฎกษัตริย์ เจ้างามทัดกรรเจียกผมสมพักตร์สิ้น
เจ้างามไรไม่แข็งคดหมดมลทิน เจ้างามประทิ่นกลิ่นเกศขจายจร
เจ้างามเบื้องปฤษฎางค์พ่างพิศวง เจ้างามทรงสมทรงอนงค์สมร
เจ้างามถันเทียบเทพกินนร เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ
เจ้างามนิ้วนขาน่ารักหนอ เจ้างามลออเอวบางเหมือนนางสวรรค์
เจ้างามเพลากลกัทลีพรรณ เจ้างามบาทจรจรัลจริตงาม
ผมแสวงมลศิลป์ไม่สิ้นศักดิ์ ด้วยใจรักบทกลอนสุนทรฉันท์
ขอนำรสสุนทรีย์ถ้อยร้อยจำนรรจ์ มาฝากกันให้ท่านอ่านเพลินเพลิน