กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจระดับไอคิว-อีคิว เด็กไทยชั้น ป.1 ปี 2564 พบมีไอคิวเฉลี่ย 102.8 สูงขึ้นจากปี 2559 และเกินค่ามาตรฐานที่ 100 ตั้งเป้าพัฒนาให้ถึง 103 ภายในปี 2570 และยังพบเด็กที่ฉลาดมาก ไอคิวเกิน 130 ถึง 10.4%
กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจระดับไอคิว-อีคิว เด็กไทยชั้น ป.1 ปี 2564 พบมีไอคิวเฉลี่ย 102.8 สูงขึ้นจากปี 2559 และเกินค่ามาตรฐานที่ 100 ตั้งเป้าพัฒนาให้ถึง 103 ภายในปี 2570 และยังพบเด็กที่ฉลาดมาก ไอคิวเกิน 130 ถึง 10.4% ส่วนกลุ่มไอคิวบกพร่องพบ 4.2% สูงกว่ามาตรฐาน ขณะที่อีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% เดินหน้าเพิ่มศักยภาพเด็กไทย โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาส ให้พร้อมเป็นพลเมืองศตวรรษที่ 21
วันนี้ (10 พฤษภาคม 2565) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงผลการสำรวจไอคิว อีคิวเด็กไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปี 2564 ภายในงาน “เดินหน้า...สร้างเด็กไทยไอคิวดี” พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลที่ร่วมดำเนินงานพัฒนาเด็กไทยและพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยดีเด่น จำนวน 18 รางวัล
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการสำรวจระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปี 2564 ทั่วประเทศ พบว่า มีระดับสติปัญญา (ไอคิว) เฉลี่ย 102.8 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติและผ่านเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้เด็กไทยมีไอคิวไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 100 และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่า เด็กไทยมีไอคิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 4.5 จุด ส่วนเด็กที่ไอคิวต่ำกว่า 90 ลดลงจาก 31.8% เหลือ 21.7% สะท้อนความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในการพัฒนาเด็กไทยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีไอคิวในเกณฑ์บกพร่อง ต่ำกว่า 70 อยู่ถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้ไม่เกิน 2% แสดงว่ายังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ส่งผลต่อสติปัญญาในช่วงแรกเกิดถึง 5 ปี ซึ่งพบในกลุ่มขาดโอกาสทางสังคม เช่น ครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เด็กที่เกิดจากมารดาวัยรุ่น ครอบครัวขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กขณะที่ตั้งครรภ์
สำหรับเด็กที่มีระดับสติปัญญาในเกณฑ์ฉลาดมาก คือ ไอคิวมากกว่า 130 พบสูงถึง 10.4% เป็นผลจากได้รับการส่งเสริมศักยภาพอย่างเต็มที่จากครอบครัวและสังคม ซึ่งทุกหน่วยงานควรนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ส่วนผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) พบอยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% แสดงว่าเด็กยังมีความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ ควบคุมอารมณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จและความสุขในอนาคต
“การที่เด็กไทยมีระดับไอคิวสูงขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนสารไอโอดีนในเด็ก ทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยมากขึ้น จึงขอให้กรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยเพิ่มเรื่องความรอบรู้ด้านไอโอดีนให้แก่ อสม. เพื่ออธิบายต่อกับชาวบ้านถึงความสำคัญในการให้เด็กได้บริโภคอาหารที่มีสารไอโอดีน” นายอนุทินกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2559 พบว่า เด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีระดับสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.2 แม้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลที่ 100 แต่การสำรวจครั้งล่าสุดปี 2564 มีค่าเฉลี่ยเกินระดับ 100 แล้ว ถือเป็นทิศทางที่ดีได้ตั้งเป้าที่พัฒนาระดับสติปัญญาเฉลี่ยของเด็กไทยให้ถึง 103 ในปี 2570 โดยผลการสำรวจในปี 2564 จะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาและส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทยในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นำไปสู่ผลลัพธ์คือ เด็กไทยมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีศักยภาพและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป
ด้าน พญ.หญิงอัมพร กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อมูลครบถ้วน 61 จังหวัด ได้แจ้งพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้ว ส่วนอีก 16 จังหวัด เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ทำให้การสำรวจข้อมูลไม่ครบถ้วน และแม้ครอบครัวไทยจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้าน แต่เด็กไทยยังมีอีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 83.4% ซึ่งเด็กที่มีอีคิวดีจะมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะปัญหาอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาและค้นคว้าแนวทางส่งเสริมศักยภาพขอเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในครอบครัวที่ขาดโอกาสทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างพัฒนาการและสติปัญญาของเด็กให้พร้อมมุ่งสู่การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก และพัฒนาการที่สมวัยทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
ที่มา เว็บไซต์รัฐบาลไทย 10 พฤษภาคม 2565
ด้านเว็บไซต์ไทยโพสต์ ได้นำเสนอข่าว ดังนี้
10 พ.ค.65- ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงผลการสำรวจไอคิว อีคิวเด็กไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปี 2564ภายในงาน “เดินหน้า…สร้างเด็กไทยไอคิวดี” พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลที่ร่วมดำเนินงานพัฒนาเด็กไทยและพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยดีเด่น จำนวน 18 รางวัล
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการสำรวจระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปี 2564 ทั่วประเทศ พบว่า มีระดับสติปัญญา (ไอคิว) เฉลี่ย 102.8 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติและผ่านเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้เด็กไทยมีไอคิวไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 100 และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่า เด็กไทยมีไอคิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 4.5 จุด ส่วนเด็กที่ไอคิวต่ำกว่า 90 ลดลงจาก 31.8% เหลือ 21.7% สะท้อนความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในการพัฒนาเด็กไทยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีไอคิวในเกณฑ์บกพร่อง ต่ำกว่า 70 อยู่ถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้ไม่เกิน 2% แสดงว่ายังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ส่งผลต่อสติปัญญาในช่วงแรกเกิดถึง 5 ปี ซึ่งพบในกลุ่มขาดโอกาสทางสังคม เช่น ครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เด็กที่เกิดจากมารดาวัยรุ่น ครอบครัวขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กขณะที่ตั้งครรภ์
สำหรับเด็กที่มีระดับสติปัญญาในเกณฑ์ฉลาดมาก คือ ไอคิวมากกว่า 130 พบสูงถึง 10.4% เป็นผลจากได้รับการส่งเสริมศักยภาพอย่างเต็มที่จากครอบครัวและสังคม ซึ่งทุกหน่วยงานควรนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ส่วนผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) พบอยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% แสดงว่าเด็กยังมีความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ ควบคุมอารมณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จและความสุขในอนาคต
“การที่เด็กไทยมีระดับไอคิวสูงขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนสารไอโอดีนในเด็ก ทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยมากขึ้น จึงขอให้กรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยเพิ่มเรื่องความรอบรู้ด้านไอโอดีนให้แก่ อสม.เพื่ออธิบายต่อกับชาวบ้านถึงความสำคัญในการให้เด็กได้บริโภคอาหารที่มีสารไอโอดีน” นายอนุทินกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2559 พบว่าเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีระดับสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.2 แม้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลที่ 100 แต่การสำรวจครั้งล่าสุดปี 2564 มีค่าเฉลี่ยเกินระดับ 100 แล้ว ถือเป็นทิศทางที่ดีได้ตั้งเป้าที่พัฒนาระดับสติปัญญาเฉลี่ยของเด็กไทยให้ถึง 103 ในปี 2570 โดยผลการสำรวจในปี 2564 จะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาและส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทยในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นำไปสู่ผลลัพธ์คือ เด็กไทยมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีศักยภาพและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป
ด้าน พญ.หญิงอัมพร กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อมูลครบถ้วน 61 จังหวัด ได้แจ้งพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้ว ส่วนอีก 16 จังหวัด เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ทำให้การสำรวจข้อมูลไม่ครบถ้วน และแม้ครอบครัวไทยจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้าน แต่เด็กไทยยังมีอีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 83.4% ซึ่งเด็กที่มีอีคิวดีจะมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะปัญหาอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาและค้นคว้าแนวทางส่งเสริมศักยภาพของเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในครอบครัวที่ขาดโอกาสทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างพัฒนาการและสติปัญญาของเด็กให้พร้อมมุ่งสู่การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก และพัฒนาการที่สมวัยทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2565