วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เป็นประธานแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2565 พร้อมเสวนา เรื่อง “ความพร้อมในการเปิดเรียนอย่างปลอดภัย” โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมเสวนา และผู้บริหารของ ศธ. อาทิ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นต้น รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมรับฟัง ณ โรงเรียนพญาไท กรุงเทพฯ
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2565 นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย และสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมความพร้อมในการเปิดเรียนให้ดีที่สุด ซึ่ง ศธ. มีเป้าหมายเปิดการเรียนแบบ On-Site ด้วยการสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ถึงความปลอดภัย และคุณภาพการศึกษา ที่ลูกหลานของเราจะได้รับผ่านระบบการศึกษาของไทยทุกรูปแบบ และสร้างความไว้วางใจกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องรวมพลังกัน เพื่อยกระดับความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ หรือ สร้าง TRUST ให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ส่วนในด้านความปลอดภัย ศธ. ได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาทุกสังกัดเตรียมความพร้อมตามแนวทางการเฝ้าระวังสำหรับการเปิดเรียน On site ด้วยหลักการ “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน” ซึ่งทุกสถานศึกษาต้องทำการประเมินตนเองในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ มีการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม รวมถึงการฉีดวัคซีนให้กับ ครู บุคลากร และเด็ก อายุ 5-18 ปี ได้รับวัคซีนโควิด -19 ตามเกณฑ์ ให้มีการเร่งรัดจัดฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนทุกคนที่มีความประสงค์จะเข้ารับการฉีดอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยศึกษาธิการจังหวัดประสานกับสาธารณสุขจังหวัดในการเร่งฉีดวัคซีน โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่มีอายุระหว่าง 5 -11 ปี ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ และความจำเป็นในการฉีดวัคชีนให้กับผู้ปกครองได้รับทราบ
“ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการสร้างความปลอดภัย 6-6-7 เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด ทั้งการบริหารจัดการภายในห้องเรียน ภายในโรงเรียน และบริเวณโดยรอบโรงเรียน มีการเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ มีการซักช้อม รวมถึงการเตรียมพร้อม School Isolation สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจในชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของชุมชนร่วมกันอย่างเข้มแข็ง หากมีความเสี่ยง หรือความไม่ปลอดภัยใดๆ เกิดขึ้น กลไกการสื่อสารเพื่อแจ้งเหตุ ผ่าน MOE Safety Center ต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลงมือแก้ไขเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือเรื่องความไม่ปลอดภัยนั้น ต้องได้รับการจัดการแก้ไขให้หมดไป เพราะเป้าหมายสำคัญคือนักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน และลดปัญหาการเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)” รมว.ศธ. กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า ในด้านการสร้างความมั่นใจต่อคุณภาพทางการศึกษานั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยเกิดขึ้นกับนักเรียนในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งในปีการศึกษา 2565 นี้ ศธ. มุ่งเน้นให้เป็นปีแห่งการเสริมสร้างการศึกษา เพื่อเดินหน้าแก้ไขภาวะถดถอยทางการเรียนรู้อย่างจริงจัง โดยเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ช่วงที่สูญเสียไปให้คืนกลับมาเร็วที่สุดอย่างเป็นระบบ ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นหัวใจสำคัญ หรือ Child Center ด้วยการนำแนวทางการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการขับเคลื่อนการเรียนการสอนใน 3 มิติ คือ การเสริมสร้างความรู้ การสร้างทักษะที่เข้มข้น ส่งเสริมทักษะชีวิต หรือทักษะทางสังคม โดยจะมีการเตรียมความพร้อม หรือการปรับพื้นฐานก่อนเรียน เพื่อค้นหาช่องว่างของน้อง ๆ ในการออกแบบการเรียนการสอนที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสม ด้วยการประเมินความพร้อมก่อนการเรียนในทุกระดับชั้น เพื่อรับทราบถึงสถานะ หรือช่องว่างทางการเรียนรู้ เพื่อคุณครูจะได้เตรียมเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีความเหมาะสม สามารถเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาดำเนินการปรับพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนก่อนเปิดภาคเรียน หรือภายหลังการเปิดภาคเรียนแล้ว
สำหรับครูในทุกสังกัด จะได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมทั้งการจัดสวัสดิการความปลอดภัย สร้างขวัญและกำลังใจแก่ครูและบุคลากรของสถานศึกษา ซึ่ง ศธ.พร้อมสนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนาคุณครูให้มีทักษะการสอนอย่างเต็มที่ ทั้งในด้าน Digital Literacy มีความสามารถในการปรับช่องว่างทางการเรียนรู้และทักษะของนักเรียน และสามารถวิเคราะห์เพื่อวางแผนการสอนที่เหมาะสม เน้นการสร้างคุณภาพทางการศึกษา เพื่อเป็นการสร้างรากฐานทางการศึกษา ที่ต้องนำพาน้อง ๆ ไปสู่การเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความรู้ และทักษะที่จำเป็นต่ออนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในศตวรรษที่ 21 และสนับสนุน เสริมสร้างการเรียนเพื่อรู้ และสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“นับเป็นจังหวะ และโอกาสที่ดี ที่ทุกคนจะได้เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ รวมถึงการเปิดกว้างทางความคิด ในการปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการเรียนรู้การปรับตัว การพลิกแพลงต่างๆ ภายใต้บริบทแวดล้อมทางสังคม และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลกระทบต่อการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถประยุกต์ใช้ และมีความสามารถที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ ทั้งในการเรียนการสอนแบบ Online, On demand, On air หรือ On hand ขณะเดียวกัน การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในโครงการพาน้องกลับมาเรียน หรือการพาเด็ก ๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษากลับคืนสู่ห้องเรียน ยังดำเนินควบคู่ ต่อเนื่อง ด้วยการค้นหา ติดตาม และวางแผนป้องกันไม่ให้น้อง ๆ หลุดจากระบบอีกครั้ง ตามที่กระทรวงฯ ได้มีโครงการ “อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ควบคู่ไปกับการแนะแนวการศึกษาต่อนอกระบบ สำหรับน้อง ๆ ที่ไม่ประสงค์จะกลับเข้าระบบ” รมว.ศธ. กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนเปิดภาคเรียนนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ทางองค์การค้าคุรุสภาได้นำสินค้าเกี่ยวกับนักเรียนมาลดราคาเป็นกรณีพิเศษ ในแคมเปญ “ช้อปเพลินๆ รับเปิดเทอมกับ ศธ.” โดยหาซื้อได้ที่ศึกษาภัณฑ์พานิชย์ทุกสาขา หรือผ่านระบบออนไลน์และร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายขององค์การค้าคุรุสภาในทุกภาคทั่วประเทศ และร้านค้าต่างๆ ที่ เข้าร่วมโครงการ โดยจะมีตราสัญลักษณ์ติดแสดงที่หน้าร้าน ซึ่งมีหลายรายการสินค้า จะมีลดราคาสูงถึง 50% เครื่องแบบนักเรียน ลดราคา 50% อุปกรณ์ เครื่องเขียน มีส่วนลดที่มอบให้ ตั้งแต่ 10-20% และคู่มือคุณครู ลด 30%
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน