รับมือเปิดเทอมใหม่ด้วย Active Learning เป็นนวัตกรรมฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย เพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้ที่หายไปของเด็กนักเรียนที่ต้องเจอในช่วงโควิดที่ผ่านมา ซึ่งทั้งตัวนักเรียนเองและครูผู้สอนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซ้ำเด็กยังประสบภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) ซึ่งการเรียนออนไลน์ก็ไม่ตอบโจทย์ตามเป้าหมาย จึงต้องเร่งแก้ไขวิกฤติ และฟื้นฟูสู่โอกาสปฏิรูปการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน
การเรียนการสอนในช่วงโควิดนั้น เด็กเรียนรู้ได้น้อยมาก เพราะสถานะทางครอบครัวของเด็ก มีสภาพความเป็นอยู่ที่ต่างกัน ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เด็กบางคนมีคนช่วยสอนเพิ่มเติม แต่เด็กบางคนอาศัยอยู่กับตายายไม่มีใครช่วยสอน เป็นสถานะที่เหลื่อมล้ำกันอย่างเห็นได้ชัด
ยิ่งเด็กวัยประถมนั้นเป็นวัยที่น่าเป็นห่วง เขาต้องเรียนรู้พื้นฐานการอ่านออกเขียนได้ และต้องเป็นแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ต้องมีกิจกรรมที่ทำให้เด็กสนุกสนาน ให้เด็กมีส่วนร่วม ส่วนการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กไม่เข้าใจ หากเปิดเทอมใหม่ต้องเปิดเรียนแบบ on site และเร่งฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้กลุ่มเด็ก และต้องตรวจ ATK ครูกับนักเรียนบ่อยๆ ด้วย
ที่ปรึกษากรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนภายในงานเสวนา "นวัตกรรมและแนวทางฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย" เพื่อรับมือเปิดเทอมใหม่ กับภารกิจ Learning Recovery ที่จัดโดย กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และองค์การ ยูนิเซฟ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา
ช่วงโควิดนี้ถึงแม้จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กมีภาวะถดถอย (learning loss) ก็จริง แต่มันยังมีแนวทางแก้ไขปัญหา คือครูต้องตระหนักว่า นักเรียนมี Working memory (ความจำที่ถูกประมวลนำมาใช้งาน) ไม่เท่ากัน มีความสามารถการจดจำการเรียนต่างกัน อย่างไรก็ตามเด็กที่มี Working memory พื้นฐานไม่ดี เป็นเด็กที่เรียนได้ช้าก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาจะเรียนไม่ฉลาด เด็กที่เรียนช้าสามารถเรียนรู้ได้เรื่อยๆ จนถึงวัยการเติบโตในแบบของเขา เขาก็จะสามารถดึงความรู้นั้นออกมาใช้ และก็เคยมีเคสที่ประสบความสำเร็จมาแล้วด้วย ครูต้องเข้าใจด้วยว่า เด็กแต่ละคนมีขีดความสามารถการเรียนรู้ไม่เท่ากัน แต่เขาก็สามารถเรียนรู้อย่างแท้จริงได้
“2 ปีที่เจอโรคระบาดโควิดเป็นต้นมา เป็นตัวปลุกให้พวกเราตื่นมาร่วมกันแก้ปัญหาการศึกษาไทย ทำให้เรามองเห็นปัญหาเชิงระบบด้วยว่าการเรียนรู้นั้นถดถอยมานานกว่า 10 ปีแล้ว ทั้งนี้พอเจอโควิดก็กระตุ้นทำให้ต้องมาเร่งฟื้นฟูกันในช่วงนี้ เสียงสะท้อนของเด็กนักเรียนที่ผ่านมาทำให้เรารับรู้ปัญหาว่า น้องเรียนไม่ทันเพื่อน น้องไม่มีอินเทอร์เน็ต เรียนออนไลน์ เน็ตช้า ไม่มีอุปกรณ์การเรียน น้องเรียนไม่ค่อยเข้าใจ น้องอ่านไม่ค่อยคล่อง และน้องอยู่บ้านไม่มีคนสอนทำใบงาน เราจึงไม่สามารถปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เพียงลำพังต่อไปได้”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช แนะนำต่ออีกว่า มีหนังสือเรื่อง “ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง” ที่สามารถสื่อสารวิธีการเรียนรู้ทั้งมุมของนักเรียนและครูได้ผลจริง วิธีการเรียนการสอนจากหนังสือเล่มนี้นอกจากจะทำให้ครูเห็นผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นแล้ว ยังทำให้นักเรียนมองเห็นเป้าหมายและความก้าวหน้าด้านการเรียนของตนอีกด้วย การวางรากฐานครูและนักเรียนให้เป็นผู้เรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ไม่หลงอยู่ในการเรียนรู้ระดับผิวเผิน เป็นเรื่องสำคัญมากของการศึกษาไทยในช่วงโควิด
“หน้าที่ของครูคือนำนักเรียนเข้าสู่การเรียนรู้ระดับลึก เช่น การออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนฝึกคิดและแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น ฝึกตั้งคำถามและฝึกสนุกกับการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญคือ ครูต้องมีทักษะในการสนับสนุนให้การเรียนรู้ของเด็กเคลื่อนจากการเรียนระดับผิวไปสู่การเรียนระดับลึก ในเวลาและโอกาสที่เหมาะสม เพื่อให้นักเรียนสร้างนิสัยตนเองให้เป็นคนที่สนุกกับการเรียนระดับลึก” ที่ปรึกษากรรมการบริหาร กสศ. กล่าว
ทั้งนี้ จากหนังสือ “ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง” ได้ยกตัวอย่างการเรียนการสอนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ได้ออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นปัญหาเป็นฐาน ผ่านการบูรณาการ PBL (Problem - based Learning) ฐานสมรรถนะ ที่เชื่อมโยงอยู่กับปัญหากับชีวิตจริง ชวนให้นักเรียนได้ออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา พร้อมไปกับการสร้างคุณลักษณะภายใน ที่เมื่อนักเรียนทำงานสำเร็จและเอาชนะปัญหานั้นได้ นักเรียนจะเกิดความรู้สึกมีคุณค่าและรู้สึกดีกับตนเอง และ PBL กระตุ้นความกระหายใคร่รู้ความอยากรู้ความใฝ่รู้ โดยออกแบบกิจกรรม active learning มีการกำหนดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน ได้รับผิดชอบการเรียนของตนเองและฝึกทำงานจนสำเร็จ
ที่มา เฟซบุ๊ค กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา