2พ.ค.65-นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ..ได้พิจารณาลงมติเสียงข้างมากเห็นชอบร่างมาตรา 3 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เรื่อง ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. ว่า เรื่องดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร โดยตนได้ชี้แจงว่าการมีคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าวออกมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หลักการเพื่อต้องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยแยกเนื้องานส่วนการบริหารงานบุคคลออกมาจากเขตพื้นที่ที่เดิมอยู่ในรูปแบบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ซึ่งพบว่าในอดีตมีข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการเรียกรับผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครู ดังนั้นเมื่อการบริหารงานบุคคลมาอยู่ภายใต้กำกับของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทำให้เรื่องเหล่านี้สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้ในเชิงโครงสร้าง เนื่องจากการเป็นคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนในพื้นที่ร่วมเป็นกรรมการทำให้เกิดความโปร่งใส
นายสุภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการมี ศธจ.เป็นการซ้ำซ้อนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) นั้น ต้องถามว่าซ้ำซ้อนอย่างไร ในเมื่อแยกโครงสร้างการบริหารงานบุคคลออกมาชัดเจนแล้ว อีกทั้งยังได้เพิ่มงานลงไป คือ การขับเคลื่อนแผนการบูรณาการการศึกษาจังหวัด เพื่อให้ประสานแผนบูรณาการร่วมกันกับทบวง กระทรวง กรมอื่นๆ ไม่ใช่แค่บูรณาการกับหน่วยงานสังกัดศธ.เท่านั้น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ทั้งนี้ เราต้องนำความจริงมาพูดกัน และการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างสามารถแก้ปัญหาเรื่องเรียกรับผลประโยชน์ได้หรือไม่ ซึ่งจากการวิจัยก็พบว่าสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงและไม่มีปัญหาดังกล่าวหลงเหลืออยู่ โดยนายวิษณุก็รับฟังการรายงานข้อมูลต่างๆ เรียบร้อยดี
อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….จะต้องดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูลเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และประเด็นเรื่องโครงสร้าง ศธ.จะต้องถูกเขียนไว้ในกฎหมายลูกตามลำดับ ส่วนจะผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ประกาศใช้ในปีนี้หรือไม่นั้นคงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลดำเนินการต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565