แผนที่ คือ เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ประเภทหนึ่ง เพื่อแสดงลักษณะทางกายภาพ และที่ตั้งของสิ่งต่างๆ เป็นภาพย่อส่วนแสดงลักษณะของพื้นผิวโลก ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เส้นทางคมนาคม สถานที่ ท้องนา ท้องไร่ เป็นต้น รวมไปถึงการนำเอารูปภาพสิ่งต่างๆ บนพื้นผิวโลก มาย่อส่วนให้เล็กลง แล้วนำมาเขียนลงกระดาษแผ่นราบ สิ่งต่างๆ บนพื้นโลกประกอบไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งเหล่านี้แสดงบนแผนที่โดยใช้สี เส้นหรือรูปร่างต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์แทน
แผนที่ เป็นเครื่องมือช่วยในการดำเนินงานตั้งแต่โบราณ ประโยชน์ของแผนที่ในสมัยนั้น คือใช้เป็นเครื่องแสดงเส้นทางเดิน ถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารในทางภูมิศาสตร์ถือว่าแผนที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์ มีความสำคัญต่อการศึกษาข้อมูลเพื่อประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและทางการเมืองมีความจำเป็นในการวางผังเมืองให้เหมาะสมกับการขยายตัวของชุมชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์นำมาใช้เป็นเครื่องช่วยในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แผนที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การเรียนการสอน การประกอบอาชีพสาขาต่างๆ และการนำไปใช้งานด้านต่าง ๆ เช่น ภูมิศาสตร์ การสำรวจธรณีวิทยา การเกษตร ป่าไม้ การคมนาคมขนส่ง กิจการทหารตำรวจ ศิลปวัฒนธรรม และ ข้อควรรู้ในการใช้แผนที่มีดังนี้
1. รู้ทิศ เมื่อเราหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก แล้วกางแขนทั้งสองข้างนั้นด้านหลังจะเป็นทิศตะวันตกด้านซ้ายมือเป็นทิศเหนือด้านขวามือเป็นทิศใต้
2. รู้วิธีอ่านมาตราส่วน ว่าย่อจากของจริงเท่าไรทำให้สามารถคำนวณหาระยะทางจริงได้
3. รู้วิธีอ่านแผนที่ เช่น ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ที่ไหน อาณาเขตเป็นอย่างไร มีแม่น้ำสายสำคัญอะไรบ้างมีภูเขาอะไรบ้าง เป็นต้น
4. รู้วิธีการวัดระยะทางในแผนที่ ถ้าระยะทางในแผนที่เป็นเส้นตรง สามารถวัดได้โดยใช้ไม้บรรทัด ไม้โพรแทรกเตอร์ แล้วนำไปคำนวณระยะทางในพื้นที่จริง ถ้าระยะทางในแผนที่เป็นเส้นโค้งหรือเส้นคดต้องใช้เส้นด้ายมาวางทาบตามเส้นระยะทางที่ต้องการวัดในแผนที่หลังจากนั้น ดึงเส้นด้ายให้ตึงแล้วนำไปทาบบนไม้บรรทัดเพื่อคำนวณระยะทางในพื้นที่จริง
1. ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้แสดงเส้นทางคมนาคมในการเดินทาง เป็นต้น
2. ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว แผนที่มีประโยชน์ในการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยว การวางแผนการท่องเที่ยว รวมถึงการตัดสินใจเลือกสถานที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว
3. ใช้ในการรายงานปรากฎการณ์ธรรมชาติ เช่น แผนที่แสดงอุณหภูมิ แผนที่แสดงการเคลื่อนที่ของพายุ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
4. ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนสร้งระบบสาธารณูปโภค เช่น วางแผนการตัดถนน วางระบบโทรคมนาคม วางสายไฟฟ้า วางท่อประปา การสร้างเขื่อนเป็นต้น
5. ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น แผนที่แสดงความหนาแน่นของประชากร แผนที่แสดงแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำไปวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อไป เป็นต้น
6. ใช้ในกิจการทางทหาร โดยนำไปเป็นข้อมูลในการวางแผนทางยุทธศาสตร์ เช่น การเลือกตั้งที่ค่ายทหาร การทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศ เป็นต้น
7. ใช้ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ใช้เป็นข้อมูลในการสำรวจและปักปันเขตแดน เป็นต้น
8. ใช้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่ เช่น ศึกษาชนิด คุณภาพ และการกระจายดินธรณีวิทยา ป่าไม้ เป็นต้น
9. ให้เราเข้าใจลักษณะภูมิประเทศซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์
10. ทำให้รู้จักที่ตั้งของประเทศ จังหวัด อำเภอ ภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น
11. เป็นประโยชน์สำหรับนักเดินทาง นักเดินทางใช้มักเป็นแผนที่แสดงเส้นทางคมนาคม และบอกสถานที่ตั้งของสถานที่ต่าง ๆ
ที่มา เอกสารประกอบการเรียน ชุด ภูมิศาสตร์น่ารู้ เล่มที่ 1 เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแผนที่ ผลงานครูวิลาวรรณ แสงสีเงิน