ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... มีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงคำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เม.ย.2560 ด้วย ซึ่งจะส่งผลถึงการยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ในอนาคตนั้น
เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีดังกล่าวเบื้องต้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ได้เดินทางเข้าพบเพื่อหารือกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับการดูแลกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะหาทางออกให้กับ ศธภ. และ ศธจ.แล้ว ขณะที่กลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาคในครั้งนี้ ประกอบด้วย ศธจ. ศธภ. และบุคลากรในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาคต่างแสดงความกังวลใจต่อสถานภาพที่ไม่มั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ และได้มีการนัดหมายรวมพลัง ในวันจันทร์ที่ 2 พ.ค.65 เวลา 09.00 น. ที่บริเวณด้านหน้าอาคารราชวัลลภ ศธ. เพื่อยื่นหนังสือขอให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาคยังคงอยู่ในโครงสร้าง ศธ.ใหม่ต่อไป อีกทั้งมอบดอกกุหลาบให้กำลังใจ น.ส.ตรีนุช ที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้ เพื่อให้ ศธจ. และ ศธภ.ช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา และนโยบายต่างๆของ ศธ. โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางการศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า หลังจากยื่นหนังสือกับ รมว.ศธ.แล้ว ทางกลุ่ม ศธจ. และ ศธภ.ยังเตรียมเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องมี ศธจ.และ ศธภ.ต่อไป นอกจากนี้จะไปยื่นหนังสือถึงนายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 หรือควรร่างกฎหมายรองรับโครงสร้าง ศธจ.และ ศธภ.ไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่อย่างถูกต้อง เพื่อดำรงไว้ซึ่งบทบาทหน้าที่ การประสานและบูรณาการการศึกษาของทุกสังกัดทุกกระทรวงในพื้นที่ของจังหวัดและภาค.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 29 เม.ย. 2565