เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … ระดับประถมศึกษา และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … ระดับประถมศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนโดยกำหนดชื่อหลักสูตรว่า “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ….” หรือ“หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ” และได้เห็นชอบแผนการทดลองใช้ (ร่าง) หลักสูตรฯ โดยปีการศึกษา 2565 ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ และปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตร ประถมศึกษาปีที่ 1 และ ประถมศึกษาปีที่ 4 นอกจากนี้ คณะกรรมการ กพฐ. ยังได้ขอปรับเวลาในการประกาศใช้หลักสูตรจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นตุลาคม 2565นั้น
มติดังกล่าวเป็นเพียงการเห็นชอบกรอบหลักสูตรเท่านั้น ไม่ได้ประกาศใช้ในโรงเรียนทั่วไป ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวทางคณะอนุกรรมการยกร่างหลักสูตรฯได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรให้ที่ประชุมได้รับทราบ ซึ่งที่ประชุมยืนยันว่า หลักสูตรมีความจำเป็นต้องพัฒนา แต่ระหว่างที่ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ไปก่อน ส่วนหลักสูตรที่จะพัฒนาใหม่ ให้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมตามที่ตกลงไว้เช่นเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามการจะนำหลักสูตรที่ปรับปรุงพัฒนาใหม่ไปใช้กับโรงเรียนทั่วไป ต้องทำให้ครบกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ถ้าเสร็จเมื่อไร ก็ประกาศใช้ โดยยังไม่ได้ระบุว่าจะใช้วันไหน เมื่อไหร่ ส่วนมติที่ออกมานั้น ในความหมายของคณะกรรมการกพฐ. เป็นการประกาศกรอบหลักสูตร เพื่อให้โรงเรียนนำร่องไปทดลองใช้ก่อนเป็นเวลา 1 ปี เมื่อผลการทดลองออกมาแล้ว จึงจะมาดูข้อดี ข้อเสีย ปรับปรุงพัฒนาก่อนจึงจะประกาศใช้กับโรงเรียนทั่วไป โดยอย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี และขณะนี้หลักสูตรดังกล่าว นำร่องใช้ในพื้นที่นวัตกรรมตามมติเดิมเท่านั้น โรงเรียนทั่วไปยังไม่มีโรงเรียนใดเป็นโรงเรียนนำร่อง กรณีนี้เกิดขึ้นอาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนและสับสนในทางปฏิบัติ เพราะสุดท้ายแล้วหากจะใช้จริงก็จะต้องประกาศล่วงหน้า 2-3 ปี และต้องเตรียมความพร้อมโดยการอบรมพัฒนาครู พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาให้เข้าใจ ไม่ใช่ประกาศใช้เลยโดยไม่ต้องมีการพัฒนาครูก่อนรวมถึงต้องมีการเตรียมความพร้อมจัดทำหนังสือเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนด้วย
“ผมขอยืนยันว่าการประกาศใช้หลักสูตรใหม่ ต้องเป็นไปตามกระบวนการ คือ มีการนำร่องและนำผลการทดลองนำมาปรับปรุงพัฒนา โดยก่อนประกาศใช้จะต้องมีการสื่อสารกับทุกหน่วยงานทีเกี่ยวข้องทั้งครู ผู้บริหาร เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาทุกคนเข้าใจตรงกัน จึงจะสามารถประกาศใช้ในโรงเรียนทั่วไปได้ ตอนนี้ยังไม่ประกาศใช้แน่นอนตราบใดที่ผลการนำร่องยังไม่ออก ปรับปรุงยังไม่เสร็จ ก็ยังนำไปใช้ไม่ได้”ดร.อัมพร กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 20 เมษายน 2565