20 เม.ย.65-นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ว่า ในการประชุมคณะกรรมการกพฐ.ที่มีนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 เมษายนนั้น ที่ประชุมยังไม่ได้มีมติเห็นชอบการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 หรือหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่ที่ประชุมได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ… หรือหลักสูตรฐานสมรรถนะขึ้น เนื่องจาก อนุอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ที่มีสำนักวิชาการและมาตฐานการศึกษาเป็นผู้ร่วมนำเสนอนั้นที่ประชุมมองว่า กรอบแนวทางการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่อนุกรรมการฯชุดดังกล่าวนำเสนอมีความครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่หลักการ วิสัยทัศน์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ และสมรรถนะทั้ง 6 ด้านของการปรับปรุงหลักสูตร เพื่อสู่การนำไปใช้งานจริง
“การปรับปรุงหลักสูตรเราต้องแยกให้ชัดเจนก่อน เพราะขณะนี้เรามีหลักสูตรแกนกลางการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่เป็นฉบับปรับปรุงพ.ศ.2561 ที่เน้นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ ซึ่งก็คือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่แล้ว ส่วนการปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถนะขณะนี้มีการนำร่องทดลองใช้ในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมอยู่ อีกทั้งมีกลไกกระบวนการของการปรับปรุงอีกหลายขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ การทดลองใช้หลักสูตรในโรงเรียนทั่วไป และการพัฒนาครูผู้สอน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมอีกหลายขั้นตอน รวมถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลักสูตรอีกหลายชุด ก่อนที่จะประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจริงอย่างเป็นทางการต่อไป”เลขาฯ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 20 เมษายน 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มี ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...ระดับประถมศึกษา และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...ระดับประถมศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยกำหนดชื่อหลักสูตรว่า “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...” หรือ “หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ” ทั้งเห็นชอบแผนการใช้หลักสูตรดังกล่าวด้วยนั้น
นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ตนขอคัดค้านมติที่ประชุม กพฐ.ดังกล่าว เพราะส่ออาจผ่านการพิจารณาโดยมิชอบ เนื่องจากได้รับร้องเรียนจากครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนบุคลากรในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เชิงกล่าวหาว่า การดำเนินการเรื่องหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะของบอร์ด กพฐ.ส่ออาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายฉบับหรือไม่ เช่น ส่ออาจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา, ส่ออาจไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 27 เป็นต้น
“ที่สำคัญ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. รับผิดชอบงานวิชาการ สพฐ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมามีการนำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้เพียง 5 โรงเรียนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่เท่านั้น หนำซ้ำยังทดลองแค่ 5 สมรรถนะ ไม่ครบ 6 สมรรถนะ จึงอาจเรียกได้ว่ายังไม่มีการนำร่องทดลองใช้ในสถานศึกษาเลย แล้วเหตุใดที่ประชุม กพฐ.จึงเร่งรีบการนำหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะไปใช้ในโรงเรียน” นายสานิตย์กล่าว
นายสานิตย์กล่าวอีกว่า ตนเคยทำหนังสือถึงประธาน กพฐ.ขอให้ตรวจสอบและตอบข้อเคลือบแคลงสงสัยดังกล่าว แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ ดังนั้น ตนกำลังปรึกษานักกฎหมายเพื่อแจ้งความเอาผิดอาญามาตรา 157 กับบอร์ด กพฐ. รวมทั้งจะยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้สั่งยกเลิกมติคณะกรรมการ กพฐ. เมื่อวันที่ 7 เม.ย. และจะทำหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการยกเลิกมติที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ดังกล่าวด้วย.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 20 เม.ย. 2565