เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เป็นเผยภายหลังการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทั่วประเทศ ว่า ขณะนี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ดำเนินการรับนักเรียนเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะมีเด็กพลาดโอกาสไม่สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนแข่งขันสูงได้ ดังนั้นขอให้เขตพื้นที่ฯ โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ประกาศโรงเรียนที่มีนักเรียนยังไม่เต็มแผนการรับ เพื่อให้ผู้ปกครองพานักเรียนที่พลาดจากการสอบมายื่นความจำนงหาที่เรียน โดยยืนยันว่านักเรียนทุกคนต้องมีที่เรียนแน่นอน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 นั้น ตนได้เน้นย้ำกับเขตพื้นที่และโรงเรียนไปว่า ณ วันนี้ยังไม่มีการเลื่อนเปิดภาคเรียน จะเปิดปฏิทิน คือวันที่ 17 พฤษภาคม โดยขอให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนรูปแบบ Onsite เป็นหลัก แต่ก็ขอให้โรงเรียนเตรียมการเรียนการสอนรูปแบบอื่น ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตหรือสถานการณ์จำเป็นต่าง ๆ ด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Onsite แต่โรงเรียนก็ต้องดำเนินการตามมาตรการ 6-6-7 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 รวมถึงต้องเตรียมอาคารสถาน ครูและอุปการณ์การเรียนการสอน ให้พร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนรูปแบบอื่น ๆ ด้วย
ดร.อัมพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สพท.จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ด้วย เช่น กรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ที่หลายแห่งมีครูเกษียณอายุไปแล้ว แต่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)ไม่คืนอัตราเกษียณให้ ทำให้โรงเรียนขาดครู ซึ่งตนได้สั่งการให้ สพท.สำรวจอัตราครูในโรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป หากพบว่าโรงเรียนไหนมีอัตราครูพอดีเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ที่กำหนด และมีพนักงานราชการหรือลูกจ้างที่เป็นครูผู้สอนอยู่ในโรงเรียนดังกล่าวแล้ว ให้สพท.เกลี่ยพนักงานราชการหรือลูกจ้างในโรงเรียนนั้นไปยังโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เพื่อชดเชยและแก้ปัญหาขาดแคลนครู ทั้งนี้ขอให้ สพท.ประกาศด้วยว่ามีโรงเรียนใดบ้างมีครูต่ำกว่าเกณฑ์ เพื่อให้ครูในพื้นที่พิจารณาขอย้าย หากมีครูต้องการย้ายไปสอนโรงเรียนที่มีครูต่ำกว่าเกณฑ์ให้ สพท.เสนอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)พิจารณาเกลี่ยอัตราได้ตลอดเวลา พร้อมกับทำแผนพัฒนาโรงเรียนคุณภาพเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป
“ที่สำคัญ ผมได้เน้นย้ำเรื่องโครงการพาน้องกลับมาเรียน ตามนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ว่าจะต้องติดตามเด็กให้ครบทุกคนภายในเดือนเมษายนนี้ และในวันที่ 30 เมษายน นักเรียนทุกคนต้องได้ที่เรียน หากนักเรียนต้องการเรียนที่สังกัดอื่นก็ให้ประสานงานให้โดยดูความต้องการของเด็ก เช่น เรียนสายอาชีพสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) หรือ เรียนนอกระบบกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นต้น โดยภายวันที่ 1-15 พฤษภาคมนี้ จะส่งต่อนักเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ประสานไว้ เพื่อให้ทันเปิดภาคเรียน และจะตามตัวเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาแล้ว สพท.ยังต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาอีกด้วย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 5 เมษายน 2565