สพฐ. จับมือ กรมอนามัย สร้างความเข้าใจเตรียมพร้อมโรงเรียนที่เป็นสนามสอบเข้า ม.1 และ ม.4 รองรับนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 อาการเล็กน้อย หรือสัมผัสเสี่ยงสูง
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และนายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการจัดสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นย้ำว่าการบริหารจัดการดังกล่าวต้องคำนึงถึงโอกาส และสิทธิของนักเรียนในการสอบเข้าศึกษาต่อเป็นสำคัญ โดยยึดมาตรการเพื่อความปลอดภัยของทุกคนเป็นหลัก
โดย ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า สพฐ. ได้ดำเนินการตามนโยบายของนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เกี่ยวกับมาตรการจัดสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามที่ ศบค. เห็นชอบให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยสามารถเข้าสอบเพื่อศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 ม.4 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง รอบทั่วไป ม.1 จะสอบวันที่ 26 มีนาคม 2565 และ ม.4 สอบวันที่ 27 มีนาคม 2565 จะดำเนินการตามมาตรการของ สธ. อย่างเคร่งครัด ซึ่งเด็กที่ติดเชื้อ จะมีการแยกสนามสอบไม่ให้ปะปนกับเด็กทั่วไป และมีการแยกทางเข้าออก หากใช้พื้นที่สอบเดียวกัน ให้ผู้จัดสนามสอบ จัดพื้นที่สอบสำหรับผู้ติดเชื้อ เป็นพื้นที่เปิดโล่ง หากมีเครื่องปรับอากาศ ต้องมีพัดลมดูดอากาศ และเว้นระยะห่าง 2 เมตร
“สำหรับการรับนักเรียนในโรงเรียนแข่งขันสูง และห้องเรียนพิเศษ ปีการศึกษา 2565 ซึ่งจะสอบคัดเลือกในวันที่ 5-7 มีนาคมนี้ นักเรียนทุกคนที่สมัครสอบเข้าสอบได้ทุกคน แม้จะมาแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง โดยทางโรงเรียนจะจัดห้องสอบเป็นการเฉพาะ โดยทุกหน่วยงานร่วมใจคำนึงถึงโอกาส และสิทธิของนักเรียนในการสอบเข้าศึกษาต่อเป็นสำคัญ ซึ่งวันนี้ได้เชิญรองอธิบดีกรมอนามัย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยในการจัดสอบด้วย พร้อมตอบข้อกังวลของ รร. ที่ต้องเตรียมแผนรองรับ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดสนามสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องเป็นไปตามมาตรการของ สธ. โดยไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ทุกราย แต่ให้ตรวจในรายที่มีอาการหรือมีความเสี่ยงสูง ส่วนสถานที่จัดสอบนั้นให้ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ทำการคัดกรองและให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดยจัดพื้นที่แยกสอบระหว่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและกลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร จัดระบบอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดการขยะติดเชื้อ และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส ด้านผู้คุมสอบให้ปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ใช้เวลาในห้องสอบให้น้อยที่สุด วางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 3 มีนาคม 2565