รมว.ศธ. พบ กมธ.การศึกษา
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 มีการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฏร โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมคณะผู้บริหาร ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ในการนี้ รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฏร ได้เสนอปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาการศึกษา รวม 8 ประเด็นใหญ่ คือ
1. จัดงบประมาณจัดซื้อชุดตรวจ ATK และอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แบบ Asynchronous (ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ทุกวันเวลาที่มีความพร้อม อีกทั้ง ผู้เรียนสามารถตอบโต้หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องด้วย)
2. การแก้ปัญหาหนี้สินครู มาถูกทางแต่ควรแก้ให้กับลูกหนี้ดีด้วย
3. ขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์อัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งได้แก่
(1) ผอ.รร. ให้เร่งพัฒนาบรรจุแต่งตั้ง ผอ.รร. ให้ครบทุกโรงเรียน หารือปลดล็อกมติ คปร.
(2) รอง ผอ.รร. ให้เร่งรีบพัฒนาบรรจุแต่งตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มีการปรับปรุงอัตราตำแหน่งจากอัตราครูเกินมาเป็นสายบริหาร และบรรจุแต่งตั้งใน รร.ที่มีนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไปด่วน เพราะมีการขึ้นบัญชีทั้งผู้ผ่านการพัฒนาและขึ้นบัญชีรอการพัฒนาอยู่จำนวนมากกำลังจะหมดอายุการขึ้นบัญชี
(3) ครู ให้เร่งรีบโยกย้ายบรรจุแต่งตั้ง เกลี่ยอัตราจากเกินไปขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มีมาตรการการจูงใจการย้ายด้วย และให้เป็นไปตามเกณฑ์อัตรากำลัง ว.23 ด่วน
(4) ครูอัตราจ้าง ควรหาทางบรรจุแต่งตั้งสำหรับผู้มีอายุงานและประสบการณ์มีผลการปฏิบัติดี และสอบผ่านการสอบบรรจุหรือสอบคัดเลือกมีคะแนนร้อยละ 60 ขึ้นไป หรือควรขึ้นบัญชีไว้ 2-3 ปี และไม่ควรมีอัตราจ้างนานเกิน 3 ปี เพราะควรเป็นอัตราถาวร (แต่ต้องผ่านการสอบ ดังกล่าว และอาศัยหลักอาวุโสด้วย) ทั้งนี้ มีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 เช่นเดิม ไม่กระทบผู้จบใหม่ในการสอบรอบทั่วไป และควรมีการจ้างครูอัตราจ้างโรงเรียนที่มีครูต่ำกว่าเกณฑ์อัตรากำลัง ว23 เท่านั้น
(5) ธุรการโรงเรียน ควรต้องมีทุกโรงเรียน ปฏิบัติงานที่เดียวและเพิ่มขึ้นตามอัตราบุคลากรสายสนับสนุนในว23 ซึ่งสามารถบรรจุได้ทุกคน และต้องปรับคุณสมบัติของบุคลากร38ค(2) เพื่อรับบุคลากรกลุ่มนี้ด้วย ถือว่าเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญมีความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างดี และที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน ธุรการรวมทั้งลูกจ้างทุกตำแหน่ง รับเงินค่าจ้างไม่ต่อเนื่อง ไม่ตรงเวลา ต้องทำสัญญาจ้างบ่อยทีละเดือนสองเดือน โดยเฉพาะเดือน กุมภาพันธ์ นี้ ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับหรือไม่
(6) ภารโรงควรกำหนดไว้ใน ว23 และให้มีทุกโรงเรียนและเพิ่มขึ้นตามอัตรารองผู้อำนวยการที่กำหนดไว้ในเกณฑ์อัตรากำลังครูและบุคลากร ว23
(7) บุคลากรอื่น เช่น พี่เลี้ยงผู้พิการ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ ควรจ้างตามวุฒิการศึกษา และมีความก้าวหน้ามั่นคงในหน้าที่การงานและชีวิตด้วย
4. ขอให้พิจารณาแก้ปัญหาการเสียสิทธิประโยชน์จากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ และใช้ระยะเวลาที่ไม่เป็นธรรม ความคงเส้นคงวาของการประเมิน เช่น กลุ่มผู้รับการประเมิน ว13 ที่ต้องรอถึง 5-6 ปี หรือครู คศ.1 ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวนการควรได้สิทธิ์ในการเลื่อนแต่งตั้งให้มีวิทยฐานะเสมือนเป็นครผู้สอน ในเรื่องที่เกี่ยวกับระยะเวลาของวิทยฐานะ คือเป็น คศ2 เพียง 1 ปี สามารถขอ คศ3 ได้
5. เร่งรัดการเสนอชื่อเข้ารับการพัฒนาก่อนบรรจุแต่งตั้ง ผอ. รอง ผอ.รร. และจัดอบรมโดยเร็ว เพราะบัญชีใกล้จะหมดอายุแล้วและหาทางป้องกัน กศจ. กันอัตราไว้รอย้ายเพื่อหาประโยชน์ในการย้ายด้วย
6. ปัญหาได้รับร้องเรียนจากชมรมรักษ์อาชีวศึกษา 3 เรื่อง คือ (1) ปัญหาหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ ที่กำหนดสัดส่วนของคะแนนอาจไม่เหมาะสม มีการใช้ดุลยพินิจมากจะเอื้อต่อการทุจริตเล่นพรรคเล่นพวกกันมาก (2) ให้ตรวจสอบและติดตามเปิดเผยความคืบหน้าของการให้ข่าวของเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เกี่ยวกับการทุจริตการสอบคัดเลือก ผอ. และ รอง ผอ. ด้วย (3) ให้ตรวจสอบการแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันอาชีศึกษาทุกแห่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
7. การออกใบอนุญาตฯ ของคุรุสภา ต้องผ่านการสอบเป็นการออกคำสั่งย้อนหลังอันมีผลทางลบหรือไม่ สำหรับผู้เข้าเรียนก่อน 26 พฤศจิกายน 2562 ควรดำเนินการให้ถูกต้องไม่ควรต้องรอการพิจารณาของศาล และหากมีการสอบควรต้องพัฒนาคุณภาพของการทดสอบทั้งระบบ คุณภาพข้อสอบ ความยากง่ายพอเหมาะกับเวลา ไม่ควรซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองเกินความจำเป็น กรณีบรรจุเข้ารับราชการอาจหลอมรวมหรือใช้การสอบสมรรถนะนี้ได้ด้วยบางส่วนหรือทั้งหมด ตามเหมาะสม สถานที่สอบควรให้ทกสถาบันฝ่ายผลิตเป็นสถานที่จัดสอบ ค่าสมัครสอบแพงเกินไปควรลดลงมากกว่านี้
8. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนร่าง พรบ.แก้ไขคำสั่งเพิ่มเติม หน.คสช.หลายฉบับที่ให้มีการคืน คณะกรรมการ องค์คณะบุคคล สภาวิชาชีพครู ให้เป็นระบบประชาธิปไตย มีส่วนร่วม ถ่วงดุล ตรวจสอบได้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ตามหลักไตรภาคีหรืออื่น ๆ เช่น คณะกรรมการคุรุสภา ก.ค.ศ. สก.คศ. องค์การค้า เป็นต้น โดยที่ปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลดบกพร่องในอดีตเสียใหม่ ทั้งนี้ ทาง สส. ทุกพรรคพร้อมเสนอร่าง พรบ. และสนับสนุนร่างของรัฐบาลที่มาจากกระทรวงศึกษาธิการ แล้วด้วย
รัฐมนตรีและคณะ รับฟังและนำไปพิจารณา
ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฏร