รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบาย สพท. ทั่วประเทศ ย้ำนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จี้ ให้เกิดบูรณาการการทำงานกับทุกหน่วยงาน เผย ปิดเทอมใหญ่ไม่หยุดเรียนรู้ เติมทักษะคุณภาพการเรียนให้เด็กอย่างทั่วถึง
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศว่า ตนต้องการมาสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้แก่หน่วยงานระดับปฏิบัติในพื้นที่ในนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการพาน้องกลับมาเรียน ความปลอดภัยในสถานศึกษา โรงเรียนคุณภาพชุมชน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งตนอยากให้ทุกนโยบายเหล่านี้ได้มีการบูรณาการร่วมกันกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การศึกษาที่มีคุณภาพ คือการศึกษาที่เด็กนักเรียนมาโรงเรียน และมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับคุณครู เพราะ ศธ. มีนโยบายเปิดการเรียนการสอนแบบ On site หากมีผู้ติดเชื้อโควิด ต้องมีมาตรการดำเนินการที่ชัดเจน มาตรการในการเรียนการสอน หรือปิดการเรียน On site เท่าที่จำเป็น ให้หยุดเฉพาะเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อ หยุดเป็นห้องเรียน การเรียนสลับเวลา การเรียนสลับชั้น มาตรการ 6-7-6 และมาตรการฉุกเฉินต้องถูกกำชับและเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาส และระดับมัธยมศึกษา เป้าหมายเพื่อการสร้างคุณภาพทางการศึกษาให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ จัดทำแนวทางและแผนการสร้างโรงเรียนคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และสามารถเกิดขึ้นได้จริงภายใต้กรอบระยะเวลาที่ระบุไว้ชัดเจน โรงเรียนใดเป็นโรงเรียนหลัก มีโรงเรียนใดบ้างที่สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน ต้องมั่นใจว่าโรงเรียนหลักได้รับการสนับสนุนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง รูปแบบของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การนำเด็กมาเรียนรวมครบชั้น ครบวิชา การเรียนแบบเครือข่าย การจัดสรรทรัพยากรครู สิ่งที่ต้องขอรับการสนับสนุนเพื่อให้แผนงานบรรลุเป้าหมาย บ้านพักครู จำนวนครู การจัดรถรับ-ส่ง เป็นต้น
“สพฐ. เตรียมดำเนินโครงการสอนเสริมให้นักเรียนช่วงปิดภาคเรียนที่ 2/2564 เนื่องจากตลอดภาคเรียนที่ผ่านมานักเรียนอาจเรียนที่โรงเรียนไม่เต็มที่ และ โรงเรียนบางแห่งอาจหยุดการเรียนการสอนบ่อยครั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดังนั้น จึงมอบหมายให้สถานศึกษาทั่วประเทศดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น โดยให้สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดเป้าหมาย โดยยึดบริบทของพื้นที่และความคาดหวังของนักเรียนและผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก เช่น นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูอาจสอนเสริมเพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และ นักเรียนในระดับปฐมศึกษาตอนต้น ครูอาจเน้นในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ เพื่อใช้ในการต่อยอดในการเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการดังกล่าว ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้ปกครองและนักเรียนด้วย โดยไม่มีการบังคับนักเรียนให้เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 2 มีนาคม 2565