22 กุมภาพันธ์ 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในสถานศึกษา ว่า กรณี จ.บุรีรัมย์ ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสั่งปิดโรงเรียนทั้งจังหวัดกว่า 1,500 แห่งนั้น เท่าที่ทราบไม่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในโรงเรียน แต่เป็นภาพรวมการแพร่ระบาดทั้งจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จึงต้องการป้องกันการแพร่ระบาด โดยการเซ็ตซีโร่ใหม่ ส่วนกรณี จ.สุรินทร์ ที่พบคลัสเตอร์งานกีฬาสีโรงเรียน ทำให้มีนักเรียนติดโควิดเกือบ 70 รายนั้น โรงเรียนดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่ ศธ.กำหนด โดยการสั่งปิดโรงเรียนไปก่อน
“จะนำประเด็นนี้ไปหารือร่วมกับนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับสถานศึกษาอย่างไร จะเสนอให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นี้หรือไม่” น.ส.ตรีนุช กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า โควิด-19 คงจะอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ศธ.จะเน้นย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ และปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 เพื่อลดความเสี่ยงโควิดในสถานศึกษา ประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด , 6 มาตรการเสริม คือ ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักตัวเอง และ 7 มาตรการเข้ม สำหรับสถานศึกษา 1.ประเมิน TSC+ และรายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง 2.Small Bubble ทำกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย 3.อาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4.อนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ 5.School Isolation มีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม 6.Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน 7. School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษาได้รับวัคซีนจำนวนมากที่สุดอย่างน้อย 85 % แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบางโรงเรียนได้ปิดเทอมแล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565