ตามนโยบายของรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้เร่งดำเนินการแก้ไขหนี้สินให้กับประชาชน และให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน รวมถึงปัญหาหนี้สินของครู ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีนโยบายในการช่วยแก้ไขหนี้สินครูมาอย่างต่อเนื่อง นั้น
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงเก็บข้อมูลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี โดยมีนายยุทธศาสตร์ ศรีสุข ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี ร่วมให้ข้อมูล
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า จากข้อมูลปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เป็นเจ้าหนี้หลักของครูฯ ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70กว่าแห่ง จากที่มีอยู่ 108 แห่งทั่วประเทศ มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ โดยมีแนวทางแก้ปัญหาหลัก คือ การลดดอกเบี้ย ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานีเป็นสหกรณ์ฯต้นแบบที่สามารถลดดอกเบี้ยให้ครูฯได้มากที่สุด คือ 1% และยังได้นำแนวทาง 70/30 มาใช้ด้วย คือ ให้ครูฯกู้เงินแล้วต้องมีเงินเหลือเพื่อการดำรงชีพ 30% และเงินที่นำมาปล่อยให้ครูฯกู้ก็เป็นเงินของสมาชิกเอง ซึ่งดอกเบี้ยก็จะกลับไปสู่สมาชิกเอง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในการลงเก็บข้อมูลวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้มาตรการต่างๆเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะหนี้ที่จะเกิดใหม่ จะต้องดูข้อมูลจากเครดิตบูโรด้วยว่าครูมีหนี้สินที่ไหนบ้าง มากแค่ไหน ถ้าครูจะกู้เงินเพิ่มจะให้ได้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ครูมีหนี้สินเกิน 70%ของเงินเดือน โดยต้องมีการให้ความรู้และทำความเข้าใจเรื่องการวางแผนการเงินให้ครูด้วย ขณะเดียวกันหนี้สินที่ครูมีอยู่ก็ต้องเข้าสู่ระบบการปรับโครงสร้างหนี้ การลดดอกเบี้ยด้วย เพราะเราต้องการยุบยอดหนี้ของครูให้ลดลง หรือลดภาระหนี้โดยรวมของครูให้น้อยลง รวมถึงบริหารจัดการทางการเงินให้ครูมีเงินเหลือไม่น้อยกว่า 30%ของเงินเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวม
“นอกจากนี้ยังได้หารือเรื่องการค้ำประกันที่จะไม่ใช้บุคคลแต่ให้ใช้หลักทรัพย์เพื่อลดภาระคนที่มาค้ำ รวมถึงกรณีการใช้วิทยฐานะในการกู้เงิน ซึ่งพบปัญหาว่าเมื่อผู้กู้เกษียณอายุราชการไปแล้วรายได้ไม่สัมพันธ์กับตอนกู้ จึงต้องกลับมาพิจารณาหาทางแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือทั้งหนี้เก่าที่ต้องปรับโครงสร้างและหนี้ใหม่ที่จะทำอย่างไรให้เป็นหนี้ที่มีคุณภาพ” น.ส.ตรีนุชกล่าวและว่า อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปัญหาหนี้สินครูเป็นปัญหาซับซ้อนและเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจและมีความเป็นห่วง ทางกระทรวงศึกษาธิการก็รับนโยบายมาเร่งแก้ไข วันนี้เป็นการเริ่มต้นเอาเจ้าหนี้มาคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะผ่อนคลายและแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งเราก็พยายามเร่งแกะเงื่อนปมนี้ออกเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายมากที่สุด
นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้มีครูลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” ซึ่งเปิดให้ครูและบุคลากรทางศึกษาเข้ามาลงทะเบียนผ่านออนไลน์เพื่อแจ้งความประสงค์ ในการเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้ ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์-15 มีนาคม 2565 แล้ว กว่า 1.3 หมื่นราย เมื่อได้รายชื่อแล้วจะส่งกลับไปที่เขตพื้นที่ฯ เพื่อจัดลำดับข้อมูลความเดือดร้อนต่อไป
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในส่วนของหนี้นอกระบบนั้น เป็นส่วนที่อยู่นอกกลไกที่เราจะควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราสามารถช่วยได้ ต้องไปดูสาเหตุของหนี้นอกระบบและต้องดูว่าจะสามารถดึงให้มาเข้าระบบเพื่อเข้าสู่กระบวนการได้หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้เพื่อป้องกันไม่ให้ไปก่อหนี้นอกระบบอีก
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 20 ก.พ.2565