‘ตรีนุช’ ลุยอีสาน สางปัญหาหนี้ครู ชู สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี แก้ปัญหาหนี้ครูยอดเยี่ยม
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี จ.อุดรธานี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ประชุมหารือการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา จังหวัดอุดรธานี โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตนขอชื่นชมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดอุดรธานี ที่ได้บริหารจัดการหนี้ครูได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งได้ดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ครูที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด โดยเฉพาะมาตรการลดดอกเบี้ยร้อย 1 จากทั้งเงินกู้และเงินฝาก ดังนั้นจึงอยากให้สหกรณ์ในจังหวัดอื่น ๆ นำไปเป็นต้นแบบขยายผลต่อไป ทั้งนี้มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครูจะยึดมาตรการ 70 : 30 คือ ใช้หนี้ 70% เหลือเงินใช้ประจำเดือนในบัญชี 30% นอกจากนี้ ได้ทำความร่วมมือกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร เพื่อจัดการข้อมูลหนี้ครูของแต่ละคนว่าครูมีหนี้อยู่ในแหล่งใดบ้าง และมีจำนวนหนี้อยู่เท่าไหร่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลบริหารจัดการแก้หนี้ครู และมีผลต่อการกู้หนี้ใหม่ของครู เพื่อให้ครูสร้างหนี้เกินเงินเดือน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดตั้งสถานีครู มีการทำงานระหว่างระดับจังหวัดและระดับเขตพื้นที่ ซึ่งสถานีแก้หนี้ครูนี้ เปิดให้ครูลงทะเบียนแก้ไขหนี้สิน เพื่อเข้าสู่ระบบปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงครูที่เป็นหนี้นอกระบบด้วยและดูว่าจะต้องจัดอับดับครูของแต่กลุ่มว่าครูคนใดเป็นหนี้วิกฤติระดับไหนบ้าง พร้อมทั้งวางกลไกการเรียนรู้ให้แก่ครูรุ่นใหม่ เพื่อวางแผนบริหารจัดการหนี้ในอนาคต ส่วนครูที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับเงินกู้ ขณะนี้ ศธ. ได้ทำเรื่องชะลอการฟ้องร้อง เพื่อไกล่เกลี่ยคดีความแล้ว
Advertisement
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี จำกัด หุ้นเฉลี่ยต่อสมาชิก 599,265 บาท หนี้เฉลี่ยต่อสมาชิก 975,084.37 บาท เงินฝากเฉลี่ยต่อสมาชิก 373,066 บาท โดยมี 4 แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี จำกัด ได้แก่
1.มาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่สมาชิก จากเดิมร้อยละ 6.25 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 5.25 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยอัตราดอกเบี้ยลดลงไปถึงร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งหากสมาชิกกู้เงินสามัญ 2.5 ล้านบาท จะเกิดส่วนต่างที่ไม่ต้องจ่ายไปถึง 25,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 2,083.25 บาทต่อเดือน รวมถึงสหกรณ์ฯ ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลง เพื่อมาช่วยเหลือสนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
2.มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่สมาชิก เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินเดือนคงเหลือร้อยละ 30 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มครูเกษียณแล้ว ที่จะมีรายได้จากค่าวิทยฐานะที่ลดลง ทำให้มีศักยภาพในผ่อนส่งน้อยลงกว่าเดิม โดยจะปรับโครงสร้างงวดส่งชำระหนี้ให้มีการขยายงวดออกไปเท่ากับงวดที่ทำสัญญาครั้งแรก และงวดสุดท้ายต้องชำระก่อนอายุครบ 75 ปี เช่น ครูกู้พิเศษ 3,200,000 บาท ส่งชำระ 180 งวด งวดละ 27,438 บาท ในขณะนี้ส่งมาแล้ว 80 งวด มียอดหนี้เหลือ 2,186,438 บาท เมื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ 180 งวดเท่าเดิม จากที่ต้องส่งเดือนละ 27,438 บาท เหลือเป็น 17,567 บาท ซึ่งส่งชำระหนี้ลดลง 9,871 บาทต่อเดือน
3.มาตรการบริหารจัดการหนี้สหกรณ์และหนี้สถาบันการเงินอื่น (รวมหนี้สินมาไว้ที่สหกรณ์) เป็นการรวมยอดหนี้จากสหกรณ์และสถาบันการเงินอื่น ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ มารวมไว้ที่สหกรณ์แห่งเดียว ทำให้ยอดเรียกเก็บรายเดือนลดลง และสมาชิกได้รับเงินเฉลี่ยคืนเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยที่เสียให้แต่ละที่ในแต่ละปี เมื่อมาเสียให้สหกรณ์ที่เดียวก็จะได้รับคืนกลับมาในรูปปันผลตอนสิ้นปี
4.มาตรการพักชำระหนี้ให้แก่สมาชิก
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565