นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้เร่งดำเนินการแก้ไขหนี้สินให้กับประชาชน และให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน รวมถึงปัญหาหนี้สินของครู ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีนโยบายในการช่วยแก้ไขหนี้ครูมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศธ. ได้เปิดโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” โดยเปิดให้ครูและบุคลากรทางศึกษาเข้ามาลงทะเบียนผ่านออนไลน์เพื่อแจ้งความประสงค์ ในการเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยในรอบแรกสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์-15 มีนาคมนี้ ซึ่งในรอบแรกนี้ หลังเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว 2 วัน มีผู้มาลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 7,364 ราย เป้าหมายการดำเนินงานครั้งนี้ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในภาพรวมอย่างเป็นระบบ
“สำหรับเป้าหมายของการแก้ไขหนี้ครูนั้น เพื่อต้องการยุบยอดหนี้ให้ลดลง หรือลดภาระหนี้โดยรวมของครูให้น้อยลง รวมถึงการช่วยบริหารจัดการทางการเงินให้ครูมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือนในการใช้จ่าย อีกทั้งยังทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาและยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลของ ศธ.เกี่ยวกับภาระหนี้สินครู โดยเป็นความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาครูที่มีหนี้สิน”รมว.ศธ. กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ครูที่มีหนี้สินทุกคนในสหกรณ์ออมทรัพย์ แนวทางในการช่วยเหลือ ก็คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยอยู่ระหว่างร้อยละ 0.05-1.00 ซึ่งขณะนี้มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการนี้แล้วรวม 70 แห่ง จากสหกรณ์ทั้งหมด 108 แห่งทั้วประเทศ โดยมีสหกรณ์ 10 แห่ง ที่ลดดอกเบี้ยลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 การแก้ไขหนี้ครูครั้งนี้ จะมีครูได้รับประโยชน์มากถึง 460,000 คน นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้หารือและได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสิน ในการชะลอการดำเนินการทางกฎหมายกับครูที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลอีกจำนวน 25,000 รายสำหรับในกรณีที่ครูต้องการเงินกู้ ในส่วนก็จะมีคณะกรรมการพิจารณาและควบคุมการอนุมัติเงินกู้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเครดิตบูโรในการเชื่อมต่อระบบข้อมูล เพื่อควบคุมยอดหนี้ทั้งหมดไม่ให้มากกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่าครูที่ต้องการกู้เงินเพิ่มเติมแต่มีหนี้รวมมากกว่า 70% ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้เพิ่ม ทั้งนี้ กรณีที่ครูมีปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ต้องปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะมีสถานีแก้หนี้ 2 ระดับ เพื่อไกล่เกลี่ย หรือทำการประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ โดยในระดับแรก คือ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา โดยสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ของหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นประธาน จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ และครู หากการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ก็จะเป็นระดับที่สองโดยการยกระดับการแก้ไขสู่สถานีแก้หนี้ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน ซึ่งจะมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยหนี้ที่ไม่สามารถหาแนวทางในระดับเขตพื้นที่ได้ โดยต้องมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการในการแก้ไข ศาลยุติธรรมพร้อมให้การสนับสนุน โดยสามารถประสานศูนย์ไกล่เกลี่ยหนี้ของศาล เพื่อหาแนวตกลงร่วมกัน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565