เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยถึงการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ว่า การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชนไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะไปยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโครงการนี้ เช่น เด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนมีจำนวนมากทำให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็ก ประกอบกับการคมนาคมสะดวกเด็กแห่เข้าเรียนในเมืองมากกว่ามาเรียนใกล้บ้าน ขณะเดียวกันคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.)ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เมื่อครูเกษียณจะไม่คืนอัตราให้ ซึ่งจากเหตุผลและปัจจัยดังกล่าววิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จะแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนและโรงเรียน คือต้องสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงเกิดโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชนขึ้น เพื่อให้มาใช้ทรัพยากรร่วมกัน ดังนั้น เมื่อมีโรงเรียนคุณภาพเกิดขึ้น ผู้อำนวยการโรงเรียนคุณภาพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในการยกระดับคุณภาพโรงเรียน เพราะเชื่อว่าถ้าได้ผู้อำนวยการที่มีคุณภาพ การบริหารโรงเรียนก็จะมีคุณภาพไปด้วย
“ขณะนี้ สพฐ.ได้กำหนดแนวทางในการบริหารงานบุคคล โดยจะสรรหาผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนคุณภาพเป็นกรณีพิเศษในโรงเรียนคุณภาพที่มีตำแหน่งว่าง ที่ไม่ใช่ตำแหน่งปัจจุบัน ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กที่มาใช้ทรัพยากรร่วมกันก็จะมีโอกาสเลื่อนขั้นเงินเดือนสูงขึ้น เพราะครูสามารถแชร์ทรัพยากรร่วมกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับครู สุดท้ายคุณภาพของนักเรียนก็จะดีขึ้นด้วย”ดร.อัมพร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์การย้ายได้เขียนไว้อยู่แล้ว คือ ย้ายเพื่อประโยชน์ทางราชการ ย้ายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เป็นต้น ถ้าหากกำหนดให้โรงเรียนคุณภาพเป็นการย้ายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ก็จะได้มีโอกาสได้เลือกคนเก่ง คนดี เข้ามาอยู่ในโรงเรียนคุณภาพได้ ซึ่งการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนคุณภาพก็เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา จะต้องเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนคุณภาพ ถ้าเขตพื้นที่การศึกษาเลือกคนผิดก็ต้องรับผิดชอบ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565