รมว.ศึกษาธิการ ลุยสร้างโรงเรียนคุณภาพชุมชน ทุ่มงบจัดเต็ม 1 เขตพื้น 1 โรงเรียนคุณภาพ ให้สำเร็จภายในปี 2565
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ติดตามการดำเนินงานนโยบายเรื่องโรงเรียนคุณภาพระดับชุมชนว่ามีการขับเคลื่อนไปแล้วมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากจะต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ลงไปดำเนินงานให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว ดังนั้นตนจึงต้องการรับทราบข้อมูลภาพรวมต่างๆของการทำโรงเรียนคุณภาพชุมชนมีอุปสรรคหรือปัญหาอย่างไรบ้าง เพราะงบประมาณที่จัดสรรลงไปจะขับเคลื่อนให้เกิดโรงเรียนคุณภาพระดับชุมชนละ 1 เขตพื้นที่การศึกษา 1 โรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทุกแห่ง ซึ่งหากการจัดทำโรงเรียนคุณภาพชุมชนสำเร็จได้ดีในปีนี้เราจะขยายต่อในปีการศึกษา 2566 อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ตนจึงต้องการมาสรุปข้อมูลดูว่าโครงสร้างเดิมก่อนการเป็นโรงเรียนคุณภาพชุมชนมีอะไรบ้าง เช่น การสร้างเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพชุมชน เป็นต้น
“เมื่อเร็วๆนี้ดิฉันได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสกลนครและพบว่า โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนคุณภาพชุมชนได้มีการทำความร่วมมือกับโรงเรียนเครือข่ายได้ดีไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หรือการรวมนักเรียนมาเรียนที่เดียวกัน หรือเมื่อมีการรวมโรงเรียนไปแล้วเด็กมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ได้ฟังเสียงสะท้อนก็มีจำนวนหนึ่งที่อาจมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่ม แต่เขตพื้นที่ได้บริหารจัดการจัดรถรับส่งให้ระหว่างบ้านไปโรงเรียน ทั้งนี้เราเข้าใจดีว่าชาวบ้านอาจยังไม่เห็นภาพของการเป็นโรงเรียนคุณภาพระดับชุมชนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่จะลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองและชุมชนได้รับทราบมากที่สุด เพราะเราต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะจะทำโรงเรียนให้เป็นบ้านสวยอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีความปลอดภัยกระบวนการเรียนการสอนต้องดี” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า นอกจากนี้ตนยังได้คิดต่อยอดนอกเหนือจากการเป็นโรงเรียนคุณภาพระดับชุมชนที่เด็กจะได้รับประโยชน์แล้ว จะสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนด้วย ซึ่งได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้จัดทำหลักเกณฑ์ในการคัดผู้อำนวยการโณงเรียนคุณภาพชุมชนด้วย ซึ่งจะต้องมีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในการพัฒนาโรงเรียนให้เข้มแข็ง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565