นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักวิชาการ สะท้อนถึงความสับสนและเคลือบ แคลงสงสัยในพฤติการณ์ของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชุดใหม่ ที่มี ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน กรณีที่รับพิจารณาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ตนจึงได้รวบรวมข้อคำถามสำคัญ และจะส่งถึง ศ.บัณฑิต ขอให้ตอบคำถาม
อาทิ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติบัญญัติให้คณะกรรมการ กพฐ. เป็นผู้ริเริ่มและจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานใช่หรือไม่, ที่ประชุมคณะกรรมการ กพฐ. วันที่ 3 ก.พ. มีมติรับทราบร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งยกร่างโดยกลุ่มบุคคลภายนอกจริงหรือไม่ ถ้าจริงถือว่าผิดกฎหมายการศึกษาแห่งชาติหรือไม่, กรณีที่ ศ.บัณฑิตให้ข่าวว่า ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่ระหว่างทดลองใช้ในโรงเรียน อยากทราบนำหลักสูตรอะไรไปทดลองใช้ เพราะผู้จัดทำบอกยังไม่เสร็จ, กรณีที่ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ให้สัมภาษณ์ว่า มีเพียง 5 โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่ ที่นำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้แค่ 5 สมรรถนะ ไม่ครบ 6 สมรรถนะ ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ และเหตุใดโรงเรียน 242 แห่ง จึงเปลี่ยนใจไม่ทดลองใช้ เป็นต้น
“กพฐ.ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่จะตามมาจากการปล่อยให้มีการนำร่างหลักสูตรใดก็ตามที่ยังไม่มีความสมบูรณ์ ยังไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพไปทดลองในโรงเรียน ย่อมสุ่มเสี่ยงสร้างผลกระทบไม่เพียงแต่คุณภาพเด็กนักเรียน แต่ครูและผู้บริหารสถานศึกษาทั้งประเทศจะเกิดความสับสน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานความถูกต้องตามหลักวิชาการ และกฎหมาย” นายสานิตย์กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 12 ก.พ. 2565