บอร์ด กพฐ.แจงการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ มอบ สพฐ.ทำแผนเปิดช่องโรงเรียนที่มีความพร้อมนอกเขตพื้นที่นวัตกรรม ได้ทดลองใช้หลักสูตรใหม่ด้วย
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพฐ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการพัฒนาครูโดยใช้ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (Human Captial Execellence Center) หรือ HCEC ซึ่งได้มีการจัดอบรมครูไปแล้วกว่า 1 แสนคน โดยเมื่อครูเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมไปแล้ว อยากให้มีโอกาสฝึกทักษะ เพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning ในชั้นเรียน ทั้งนี้ที่ประชุมมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปปรับปรุงขยายผลให้ครูที่เข้ารับการอบรมไปใช้สอนในชั้นเรียน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ต่อไป
ประธาน กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือถึงการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือหรือร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ได้ใช้มาอย่างยาวนานแล้วและควรมีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่เกิดขึ้น โดยขณะนี้ได้มีการยกร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อใช้แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจะนำไปใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรม จำนวน 467 แห่ง และในจำนวนนี้มีโรงเรียนสมัครใจเข้าร่วมทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ จำนวน 224 แห่ง ซึ่งในกลุ่มโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมสามารถนำไปใช้ทดลองนำร่องได้เลยทันที เพราะโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมมีกฎหมายรองรับที่จะนำหลักสูตรดังกล่าวไปใช้ได้ทันที ขณะเดียวกันที่ประชุมมอบให้ สพฐ.ไปจัดทำแผนการเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีความพร้อมแต่อยู่นอกเขตพื้นที่นวัตกรรม สามารถนำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และแผนมาเสนอที่ประชุม กพฐ.ในครั้งถัดไป ทั้งนี้ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่าหากจะนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ให้ทันในปีการศึกษา 2565 คงไม่ทัน เพราะอาจติดขัดข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะนำมาใช้ไม่ทัน อีกทั้งหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ครูผู้สอนสามารถประยุกต์สอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะได้อยู่แล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565