การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดดิจิทัลดิสรัปชัน (Digital Disruption) ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตของประชากรในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะประชากรวัยแรงงานที่ไม่สามารถนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมาใช้ในโลกของการทำงานได้อีกต่อไป และต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองเพิ่มเติม (Upskill) ยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต (Reskill) รวมทั้งการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ระบบการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) สนับสนุนให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความรู้และทักษะในการดำรงชีวิตในสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนจากหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-Based Curriculum) ในปัจจุบัน มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่สามารถสร้างและพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญและจำเป็นของผู้เรียน ยังสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและพัฒนากำลังคนคุณภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เล่าว่า หลักสูตรอิงมาตรฐาน จะวัดผลจากความรู้ความเข้าใจเชิงวิชาการ แต่ความสามารถและทักษะในการลงมือปฏิบัติที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม รวมทั้งลักษณะนิสัยที่ควรจะเป็นของเด็กแต่ละช่วงวัยเป็นสิ่งที่ถูกละเลยไป จึงต้องเปลี่ยนโจทย์การศึกษาให้ผู้เรียนมีทั้งความรู้และทักษะควบคู่กัน จากเดิมที่เคยตั้งคำถามว่า “เรียนแล้วรู้อะไร” เป็น “เรียนแล้วทำอะไรได้บ้าง”
รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ กรรมการปฏิรูปฯด้านการศึกษา เล่าว่า ในโลกของการทำงานยุคปัจจุบันที่องค์กรต่างๆ มักกล่าวว่าเด็กจบใหม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะเพิ่มเติม นอกเหนือจากทักษะที่ได้รับจากการเรียนในสถาบันการศึกษา เป็นอีกสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการศึกษายังไม่สามารถตอบโจทย์สังคมและโลกยุคใหม่ได้ ทำให้การปฏิรูปการเรียนรู้ต้องยึด “ทักษะของผู้เรียน” เป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงวิชาการที่ต้องมี ลักษณะนิสัยที่จำเป็นต่องานนั้นๆ และสุดท้ายคือความสามารถในการลงมือปฏิบัติ ดังนั้น สิ่งที่ได้เรียนกับสิ่งที่นำไปใช้ต้องสอดคล้องกัน ผู้เรียนต้องสามารถผสมผสานการเรียนรู้ (Learning) การใช้ชีวิต (Living) และการทำงาน (Working) เข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการซื้อ-ขายสินค้าในชีวิตประจำวัน สามารถคำนวณราคา ส่วนลด หรือกำไร ไปจนถึงการต่อยอดประกอบกิจการขนาดเล็กของตัวเองได้
รศ.ดร.ศิริเดช เล่าต่อว่า การปรับปรุงหลักสูตรนับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของระบบการศึกษา แน่นอนว่าอาจนำมาซึ่งความเป็นกังวลของทั้งสถาบันการศึกษาและตัวครูผู้สอนที่ต้องเตรียมพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังไม่ทราบผลที่จะเกิดตามมา เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก่อนเริ่มผลักดันโมเดลการจัดการเรียนการสอนบนฐานสมรรถนะไปยังทุกพื้นที่ คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อหลักสูตรสมรรถนะอย่างถ่องแท้ให้กับบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถนำไปทักษะไปต่อยอดใช้ในสถานการณ์จริงได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาสาระการเรียนรู้เชิงวิชาการจะไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะหัวใจของหลักสูตรฐานสมรรถนะ คือการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะต่างๆ ที่จำเป็น จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงจนเกิดผลทางพฤติกรรมหรือการปฏิบัติ นอกจากนี้ยังต้องปรับวิธีคิดและทัศนคติของผู้เรียนให้มีความพร้อมต่อการเปิดรับทักษะใหม่ๆ ที่มีความหมายกับชีวิตมากกว่าความรู้จากตำราในห้องเรียนอีกด้วย
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วางแผนจะนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาปรับใช้ในกรอบเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 – ปีการศึกษา 2567 โดยกำหนดสมรรถนะเด็กไทย 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. การจัดการตนเอง รู้จัก รัก เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น มีเป้าหมายในชีวิตและสามารถกำกับตนเองในการจัดการกับอารมณ์ ความเครียด และปัญหา จนถึงการฟื้นฟูสู่สภาวะสมดุลและมีสุขภาวะที่ดีได้ 2. การคิดขั้นสูง วิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณอย่างมีเหตุผล สามารถเชื่อมโยงความคิดอย่างเป็นระบบ มีความสร้างสรรค์ นำความรู้และจินตนาการมาใช้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ 3. การสื่อสาร รับรู้ ตีความ และสามารถส่งสารผ่านวัจนภาษาและอวัจนภาษาอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและเคารพความเห็นของผู้อื่น 4. การรวมพลังทำงานเป็นทีม จัดระบบการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีภาวะผู้นำ โปร่งใส่ สามารถสร้างสัมพันธ์อันดีในทีมและรับมือกับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ 5. การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ เคารพสิทธิเสรีภาพของทั้งตนเองและผู้อื่น เคารพกฎหมายและค่านิยมประชาธิปไตยเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ 6. การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน รู้และเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกและในชีวิตประจำวัน รู้เท่าทันเทคโนโลยี สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
เบื้องต้น ศธ. ได้ดำเนินการผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะในขั้นทดลองใช้ผ่าน “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ใน 8 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุม 265 โรงเรียนในสังกัดต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตลอดจนการเปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์หลักสูตรฐานสมรรถนะ (http://www.cbethailand.com) “คาดว่าการทดลองใช้ในครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของหลักสูตรตามความเป็นจริง เพื่อให้ทราบว่าควรปรับปรุงที่จุดไหนก่อนที่จะนำไปปรับใช้ทั่วประเทศ โดยยึดผลประโยชน์ของเด็กหรือผู้เรียนเป็นที่ตั้ง แม้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนและใช้เวลาในการพัฒนาแก้ไขหลักสูตรที่ได้กำหนดไว้ เพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะประสบความสำเร็จในการนำไปใช้จริงมากที่สุด” รศ.ดร.ศิริเดช กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เป็นหนึ่งในกิจกรรมปฏิรูปประเทศ (Big Rock) ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ตามเป้าหมายการสนับสนุนให้ผู้เรียนในทุกระดับชั้นได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นผู้มีความรู้และมีทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ หลักสูตรฐานสมรรถนะจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะหลักครบรอบด้าน และสามารถบ่มเพาะความรู้และทักษะที่ได้ เพื่อนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงาน สามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และกลายเป็นกำลังคนคุณภาพของประเทศในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ
ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22
อัพเดทข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
28 ต.ค.2567 - บอร์ด กพฐ. ยกเครื่องหลักสูตรใหม่ ต่อยอดหลักสูตรแกนกลางจากกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ ใช้ชื่อใหม่ "หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย" เน้นใช้สื่อ AI พัฒนาครู ย้ำหลักการไม่เพิ่มภาระครู