เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการประชุมทางไกลชี้แจงแนวทางการติดตามค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศเข้าร่วม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ต้องการลดความเหลื่อล้ำทางการศึกษาและเพิ่มโอกาสให้เด็กเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจากฐานข้อมูลเด็กหลุดจากระบบการศึกษาขณะนี้ มี 2 ฐาน คือ ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หน้าที่ของ สพท.และโรงเรียนคือ นำข้อมูลทั้ง 2 ฐานมารวมกัน หากพบข้อมูลซ้ำซ้อนแสดงว่าเป็นข้อมูลของนักเรียนคนเดียวกัน แต่หากพบข้อมูลที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน ถือเป็นข้อมูลใหม่ จากนั้นให้ สพท.และโรงเรียน จะติดตาม ปักหมุดเด็กเหล่านี้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในฐานะข้อมูล
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า เมื่อติดตามแล้วพบเด็ก ก็ต้องหาวิธีการให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา เช่น อาจจะมาอยู่ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. แต่ถ้าเด็กอยากเรียนอาชีวะ หรือ อยากเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ก็ส่งเสริมให้เด็กเข้าไปเรียนตามความต้องการ ส่วนกรณีลงไปติดตามเด็กแล้วไม่พบตัวเด็ก ต้องหาข้อมูลว่า เด็กย้ายถิ่นฐานหรือไม่ และย้ายไปอยู่ที่ใด เมื่อได้ที่อยู่ชัดเจนให้ประสานกับ สพท.และจังหวัดปลายทางที่เด็กอยู่ ให้ทำการติดตามเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาต่อไป และหากแต่ละพื้นที่พบเด็กต่างจังหวัดเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ของตน ให้เข้าไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เช่น อายุเท่าไหร่ มีภูมิลำเนาที่ไหน ได้เรียนหรือไม่ หากยังไม่ได้เรียนต้องจัดการให้เด็กเข้ามาเรียนในระบบการศึกษาเช่นกัน พร้อมกับประสานไปยังจังหวัดภูมิลำเนาของเด็กให้ทราบข้อมูลว่าเด็กได้เข้าสู่ระบบการศึกษาด้วย
“เราต้องติดตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด โดย สพฐ.มีเป้าหมายว่าจะเก็บข้อมูลเด็กหลุดจากระบบการศึกษาทั่วประเทศให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2565 และจะส่งเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาภายในเดือนพฤษภาคม 2565 หรือให้ทันการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จากนั้นจะเฝ้าติดตามเด็กเหล่านี้ ผ่านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยดูปัญหาเด็กแต่ละคนว่ามีข้อจำกัดอย่างไรและจะแก้ไขช่วยเหลือได้อย่างไร ซึ่งสพฐ.ได้ร่วมมือกับ 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและการจัดการศึกษา ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุน ช่วยเหลือเด็กเพื่อไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาอีก เพราะลำพังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสพฐ. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเด็กได้ทุกเรื่อง ดังนั้นการทำงานต้องบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กทุกคน”ดร.อัมพร กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565