นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ว่า ตนได้หารือถึงการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะโครงการพาน้องกลับมาเรียนที่เก็บเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการเรียนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะเจ้าภาพหลักไปดำเนินการปักหมุดนำร่องโครงการดังกล่าว ซึ่ง สพฐ.จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อส่งต่อนโยบายเรื่องนี้ให้ระดับพื้นที่นำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะตนต้องการวางแผนงานเรื่องนี้เพื่อดูว่าการดำเนินการติดขัดปัญหาอะไรหรือไม่ หรืออาจจะต้องหาความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยดำเนินการ
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามนโยบายการสร้างโรงเรียนคุณภาพในชุมชน ซึ่งการสร้างโรงเรียนคุณภาพนั้นจะดำเนินการสร้างโรงเรียนแม่ข่ายและเติมคุณภาพการศึกษาอย่างครบวงจร โดย สพฐ.จะต้องไปวางแผนการดำเนินงานเรื่องนี้ เนื่องจากตนอยากให้มีการนำร่องโรงเรียนคุณภาพระดับชุมชนเกิดผลสำเร็จอย่างจับต้องได้ จากนั้นค่อยขยายผลให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพราะเราคงไม่สามารถสร้างโรงเรียนคุณภาพได้ครบทุกแห่ง เนื่องจากด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่การกระจายโรงเรียนคุณภาพในชุมชนด้วยการสร้างโรงเรียนแม่ข่ายจะทำให้เรายกระดับคุณภาพการศึกษา และสร้างความเท่าเทียมการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างแน่นอน
“การสร้างโรงเรียนคุณภาพจะดูว่าโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่เหล่านั้นมีเด็กนักเรียนกี่คนและครูจำนวนกี่คน จะดูภาพรวมคุณภาพ จากนั้นก็จะให้มารวมกับโรงเรียนแม่ข่าย หรือการใช้ทรัพยากรร่วมกัน อีกทั้งหากโรงเรียนใดที่ถูกควบรวมก็อาจนำพื้นที่โรงเรียนเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ปรับเป็นอาคารที่พักครู สร้างศูนย์การเรียนรู้ในชุมชม เป็นต้น ซึ่งให้ดูตามความเหมะสมของแต่ละพื้นที่ โดยจะต้องได้รับความยินยอมกับชุมชนในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม ดิฉันจะลงพื้นที่ดูการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพชุมชนในเร็วๆ นี้”รมว.ศธ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 26 มกราคม 2565