ครม.เห็นชอบแผนการใช้เงินกสศ. ปี 2566 วงเงิน 7,590 ล้านบาท ตามที่บอร์ดกสศ.เสนอ เน้นลงทุนพัฒนาคุณภาพครู-รร.พื้นที่ห่างไกล
ลดผลกระทบโดยตรงแก่เด็กยากจนเฉียบพลันจากโควิด-19 ไม่ให้หลุดออกจากระบบ และเพิ่ม โอกาสเรียนต่อระดับสูง หลังจากนี้ สำนักงบประมาณจะพิจารณาในวาระต่อไป
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 7,590.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 1,938.05 ล้านบาท เพื่อกสศ.จะได้จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2566 เสนอสำนักงบประมาณพิจารณาต่อไป
นพ.สุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการบริหาร กสศ. มีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 7,590.34 ล้านบาท และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ท่ามกลางปัจจัยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากการว่างงานถาวรและการว่างงานชั่วคราวของผู้ปกครอง ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของครอบครัวเด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนพิเศษ ลดลงเหลือ 1,094 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับ 1,159 บาทต่อเดือน ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จนเกิดปรากฏการณ์ยากจนเฉียบพลัน ส่งผลให้นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในภาคเรียนที่ 1/2564 มีจำนวนถึง 1,244,591 คน สูงสุดนับแต่ปีการศึกษา 2561 หรือเพิ่มขึ้น 250,163 คน หรือร้อยละ 20 เทียบกับภาคเรียนที่ 1/2563 ที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19
นพ.สุภกร กล่าวว่า สำหรับแผนการใช้เงินที่ครม.เห็นชอบดังกล่าว ประกอบด้วย 9 แผนงานภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 7,590,344,800 บาท เพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินตาม พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 1,938,057,400 บาท หรือร้อยละ 34.29 (ปี 2565 กสศ. ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 5,652,287,400 บาท) เป็นการเพิ่มขึ้นจากการให้ทุนการศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานในสายครู สายอาชีพ รวมถึงด้านสาธารณสุขที่ขาดแคลนเช่น หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ (งบประมาณมีลักษณะผูกพันสะสม ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้ตั้งแต่ปี 2562) ซึ่งที่ผ่านมาเด็กยากจนมีโอกาสเข้าเรียนต่อระดับสูงกว่าชั้นมัธยมปลาย เพียงแค่ 7 % นอกจากนี้ยังเป็นงบประมาณในส่วนของการยกระดับคุณภาพครูและโรงเรียนในพื้นที่
นพ.สุภกร กล่าวว่า โจทย์ความเหลื่อมล้ำมีปมผูกกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมสะสมมายาวนาน เมื่อมีผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ยิ่งทำให้ปัญหาขยายกว้างมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 คณะกรรมการบริหารกสศ. จึงเน้นการทำงานเพื่อเกิดผลผลิตสำคัญใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนพิเศษโดยตรง ด้วยทุนเสมอภาค รวมจำนวน 1,342,256 คน ในอัตรา 3,000 บาท/คน/ปีการศึกษา ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก แต่มุ่งหวังเพื่อบรรเทาปัญหาให้กับครอบครัวยากลำบากร้อยละ 15 ล่างสุดของประเทศ แม้มีมาตรการเรียนฟรี 15 ปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยในปีงบประมาณ 2566 กสศ.ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมกลุ่มนักเรียนอนุบาล และ ม.ปลายที่เข้าเกณฑ์ยากจนและยากจนพิเศษมากกว่า 240,000 คน นอกจากนี้ยังช่วยเหลือสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 8,983 คน ขณะที่เยาวชน และแรงงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือตามความจำเป็นหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่เหมาะสม จำนวน 25,000 คน 2)สนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษา ผ่านการพัฒนาคุณภาพครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ครอบคลุมครูหรือนักศึกษาครูจำนวน 23,983 คน และโรงเรียน 750 แห่ง และ 3) แก้ไขบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด- 19 ฟื้นฟูสภาวะถดถอยของกลุ่มเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาค กลุ่มรอยต่อ ใน 4 ระดับชั้น อนุบาล 3 ป.6 ม.1 และ ม.6 และสร้างต้นแบบหน่วยจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบที่ด้อยโอกาส
“ในสถานการณ์ที่ทรัพยากรภาครัฐไม่เพียงพอ ในปีงบประมาณ 2565 กสศ. ถูกตัดงบประมาณจากที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. เสนอไปจำนวน 2 ครั้ง ประมาณ 1,980 ล้านบาท หรือ 26 % ของที่คณะกรรมการบริหาร กสศ. เสนอคณะรัฐมนตรีไป ทำให้ กสศ. ต้องระดมรับบริจาคเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือเด็กที่เดือดร้อนอีกจำนวนมากซึ่งเกินกำลังงบประมาณที่ กสศ. ได้รับการจัดสรร โดยในปี 2564 กสศ.ได้รับเงินบริจาคจากบุคคลสาธารณะหลายท่าน ประชาชนกว่า 20,000 คน และหน่วยงานภาคเอกชนมากกว่า 200 องค์กร ที่ร่วมกับ กสศ. สนับสนุนทรัพยากรทั้งในรูปแบบเงินบริจาค จิตอาสา ความรู้ ความเชี่ยวชาญ โดยนำไปริเริ่มกิจกรรม /โครงการช่วยเหลือฉุกเฉินเร่งด่วน ให้กับกลุ่มเป้าหมายในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่น เด็กกำพร้า ขาดแคลนอาหาร รวมเป็นเงินบริจาค ราว 48 ล้านบาท และยังได้ประสานเสนอโครงการไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามที่กฎหมายกสศ.ระบุไว้ในมาตรา6(4) เกี่ยวกับเงินรายได้ ของ กสศ. เมื่อกุมภาพันธ์ 2564 แต่ยังอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าอยู่”
ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ กล่าวว่า กสศ. เป็นส่วนเติมเต็มการจัดการศึกษาอย่างถูกที่ถูกจุด โดยเฉพาะเป้าหมายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในมิติ “โอกาส” และ “คุณภาพ” โดยหน่วยงานหลักอาจยังทำด้านคุณภาพไม่ลึกเท่าไหร่ หรือบางพื้นที่จะมีข้อจำกัดทำให้หน่วยงานไม่สามารถทำงานปฏิรูปได้อย่างเต็มที่ กสศ.จึงมีบทบาทสำคัญ ทั้งช่วยคิดริเริ่มและทดลอง ประยุกต์ใช้กับโรงเรียน ชุมชน หมู่บ้านมากขึ้น ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี รัฐบาลได้เห็นความสำคัญที่จะเพิ่มผู้เล่นในระบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษา นอกจากจะให้กระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่หลักแล้วยังมีกระทรวงอื่นหรือองค์กรอื่น เช่น กสศ.เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย ซึ่งการทำงานที่ผ่านมา กสศ. มีบุคลากรประจำราว 100 คน เน้นดำเนินงานผ่านเครือข่ายครูและโรงเรียนทั่วประเทศ งบประมาณ กสศ.จึงส่งตรงไปสู่กลุ่มเป้าหมายและกิจกรรมในพื้นที่โดยตรง
“เราจะเห็นว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา กสศ. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในหลายมิติ ประเด็นแรกคือการสร้างความตระหนักให้กับสังคมในวงกว้าง จากเดิมที่แนวคิดของหน่วยงานทางการศึกษาจะมองว่าช่วงการระบาดต้องปิดโรงเรียนก่อน แต่หน่วยงานที่ออกมาพูดว่าการปิดโรงเรียนเป็นความสูญเสีย หน่วยงานแรกคือ กสศ. ที่ออกมาสร้างความตระหนักว่ามันจะเกิดความรู้ถดถอย หรือ Learning Loss ทำให้โรงเรียนหลายโรงเริ่มลุกขึ้นมาคิดว่าไม่ใช่แค่ปิดโรงเรียนก่อนแล้วจะดี ประเด็นถัดมาคือเรื่องแนวทางการออกแบบการจัดการเรียนรู้ สำหรับเด็กกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ กสศ. และเครือข่ายโรงเรียน เข้ามาเติมเต็มสร้างนวัตกรรม เครื่องมือการเรียนการสอนเพิ่มเติม รวมถึงพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครการศึกษาเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆในพื้นที่ ทั้งกลุ่มศิษย์เก่า ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ผู้นำศาสนา นักศึกษาหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ นี่เป็นสิ่งที่ กสศ.เติมเต็มในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ กสศ.ยังออกมาจุดประเด็นเรื่องการเฝ้าระวังเด็กหลุดจากระบบ กสศ. ตระหนักถึงปัญหานี้และพยามติดตั้งเครื่องมือวางยุทธศาสตร์ ดึงให้เด็กๆ กลับเข้ามาในระบบการศึกษา” ดร.ศุภโชค กล่าว