สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายงานความก้าวหน้าการพัฒนาหลักสูตรฯ หลังวิพากษ์ เช็กได้ใน CBE Thailand
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ขณะนี้สพฐ. ได้จัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. สำหรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงชั้นที่ 1 (ชั้น ป.1 – 3) และช่วงชั้นที่ 2 (ชั้น ป.4 – 6) เสร็จแล้ว พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และการประชุมวิพากษ์มาปรับปรุงแก้ไขให้มี ความสมบูรณ์ โดยจะสามารถนำเสนอ (ร่าง) กรอบหลักสูตรฯ และ (ร่าง) คู่มือการใช้หลักสูตรฯ ทั้ง 2 ช่วงชั้น ผ่านเว็บไซต์ CBEthailand ได้ภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งใช้ในพื้นที่นวัตกรรม ตามที่ นส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้มีนโยบายให้ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (พ.ศ. 2561 – 2565) โดยมอบให้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่การเรียนรู้ ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพทั้งด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันผ่านการลงมือปฏิบัติจริง มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สามารถทำงานเป็นทีมและมีความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกันภายใต้การจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ สพฐ. ได้วางแผนและขับเคลื่อนงานด้านหลักสูตร โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 การพัฒนาศักยภาพของครูในสถานศึกษาที่ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในด้านการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน
ส่วนที่ 2 การจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. โดยจะนำสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนาผ่านสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยในส่วนที่ 2 ว่า สพฐ. ได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. ในช่วงชั้นที่ 1 (ชั้น ป.1 – ป.3) และนำเสนอผ่านเว็บไซต์ www.CBEThailand.com แล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2564
จากนั้นได้เปิดเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) กรอบหลักสูตรฯ และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรฯ ผ่านการประชุมระบบ ZOOM Meeting ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่าง ๆ นักวิชาการ ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมการประชุมด้วย จำนวน 13 เวที แบ่งเป็น เวทีเสวนาสำหรับสาธารณชนจำนวน 7 เวที เช่น “ปรับหลักสูตรอย่างไร ให้ตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลก” “หลักสูตรการศึกษาแบบไหน ช่วยเด็กไทยค้นพบเป้าหมายและศักยภาพของตนเอง”และ เวทีเสวนาสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะจำนวน 6 เวที เช่น เวทีนักเรียนและเยาวชนในประเด็น “สิ่งที่คาดหวังในระดับโรงเรียนและห้องเรียนฯ” เวทีครูในประเด็น “คุณครูอยากเห็นหลักสูตรเป็นอย่างไร” และได้มีการเปิดช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะชนผ่านแบบสอบในเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก CBE Thailand ด้วยควบคู่กันไป
“ขณะนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างการนำผลการรับฟังความคิดเห็นและการประชุมวิพากษ์จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุง แก้ไข (ร่าง) กรอบหลักสูตรฯ และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรฯ ในช่วงชั้นที่ 1 – 2 และจะนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ CBE Thailand ภายในเดือนมกราคม 2565 นี้ และ สพฐ.ขอเชิญชวนทุกคน ร่วมศึกษาข้อมูลและแสดงความคิดเห็น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง ก่อนที่ สพฐ. จะนำไปวิจัยและพัฒนาโดยทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่วนการขยายผลสู่โรงเรียนนอกพื้นที่นวัตกรรมกรรมคงต้องดูจากผลการวิจัยการนำหลักสูตรไปใช้ตามกระบวนการ เพื่อให้แน่ใจก่อนว่า เกิดผลดีกับเด็กอย่างแน่นอนก่อน จึงจะดำเนินการขยายผลต่อไป” ดร.เกศทิพย์ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 17 มกราคม 2565