.......................................
สมาคมพิทักษ์สิทธิฯ โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา ๑๕๙ หมู่ ๓ ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ๗๐๑๖๐
สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. สำเนาหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร ๐๙๐๔/๒๓๖ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔
๒. สำเนาบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๓๔/๒๕๖๓
ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดบรรดาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา จังหวัดนครราชสีมา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ลงนามคำสั่งลงโทษ “ไล่ออก” บรรดาข้าราชการดังกล่าวจำนวนเกือบร้อยราย และอยู่ในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.อีกนับร้อยรายในหลายๆจังหวัด ความแจ้งแล้ว นั้น
สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอเรียนว่าสมาคมฯได้มีโอกาสเรียนพบพนักงานไต่สวนของ ป.ป.ช. และสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของบรรดาผู้ถูกกล่าวหาและผู้ที่ได้รับโทษในเรื่องการก่อสร้างสนามฟุตซอล ได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เชื่อว่าบรรดาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ได้มีเจตนาทุจริตแต่เนื่องจากกฎหมายของ ป.ป.ช.เอื้อมไปถึงและในส่วนของ ป.ป.ช.นั้นหากพฤติกรรมเพียงแค่ “ส่อ” ก็จะชี้มูลความผิดแล้ว จึงส่งผลให้บรรดาผู้ถูกกล่าวหาได้รับโทษไล่ออกจากราชการ ไม่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ รวมถึงเรียกคืนเงินบำเหน็จบำนาญที่เคยได้รับไปแล้ว เสียสิทธิในการรักษาพยาบาล ไม่มีเงินใช้จ่ายในการดำรงชีพ ไม่มีเงินชำระหนี้สหกรณ์และสถาบันการเงินต่างๆส่งผลให้บรรดาผู้ค้ำประกันเดือดร้อนไปทั่ว สมาคมจึงขอกราบเรียนเสนอแนะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านี้โดยสั่งการให้เรียกประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.โดยเร็วเพื่อพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ที่ได้รับโทษและพิจารณาในประเด็นต่างๆดังนี้
๑. ตรวจสอบว่า ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนและได้เริ่มการสอบสวนภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการหรือเกษียณอายุราชการหรือไม่ หากได้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนพ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ข้าราชการผู้นั้นเกษียณอายุราชการหรือออกจากราชการไปแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้บังคับบัญชาก็ไม่สามารถสั่งลงโทษได้ ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๑๐๒ วรรค ๒ อย่างไรก็ตามแม้ว่า มาตรา ๑๐๒/๑ ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ดังกล่าวจะบัญญัติให้การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้นั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นจะพ้นจากหน้าที่ราชการไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดก็ตาม แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยและมีมติว่าการสั่งลงโทษยังคงต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ (แหล่งที่มา : หนังสือเวียนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร ๐๙๐๔/๒๓๖ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ และ มติของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๑๕๕๙/๒๕๖๔) ดังนั้นจึงขอให้ ก.ค.ศ.มีมติยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้และคืนสิทธิประโยชน์ให้โดยเร็ว
๒. ตรวจสอบว่าผู้ถูกกล่าวหารายใดได้รับโทษไล่ออกจากราชการหลังจากเกษียณอายุราชการเกินกว่า ๓ ปี กรณีนี้ขอให้ ก.ค.ศ.มีมติยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้และคืนสิทธิประโยชน์ให้โดยเร็ว ทั้งนี้เพราะ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๑๐๒ บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ และเป็นไปตามหนังสือเวียนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร ๐๙๐๔/๒๓๖ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ และ มติของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๑๕๕๙/๒๕๖๔
๓. เนื่องจากกฎหมาย ป.ป.ช.ได้บัญญัติไว้มีสาระที่กระทรวงศึกษาธิการต้องผูกพันและปฏิบัติตามคือหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ส่วนราชการจะต้องลงโทษในฐานความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จะเปลี่ยนแปลงฐานความผิดไม่ได้ อย่างไรก็ตามฐานความผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๙๙ บัญญัติไว้มีสาระว่า กรณีที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนผ่อนโทษห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก เห็นได้ว่าผู้มีอำนาจสามารถลงโทษในระดับ ปลดออก ได้ จึงเห็นควรให้ ก.ค.ศ. มีมติลดโทษเป็น ปลดออก เพื่อที่บรรดาผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวจะได้มีเงินบำนาญเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตามแม้จะมีมติ ค.ร.ม.บัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่าข้าราชการที่กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการนั้นให้ลงโทษ ไล่ออก สถานเดียวก็ตามแต่มติ ค.ร.ม.ดังกล่าวขัดกับมาตรา ๙๙ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาสามารถลงโทษได้ในระดับ ไล่ออก หรือ ปลดออก และ คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีมติไว้ว่า “แม้ว่ามติคณะรัฐมนตรีจะมีผลผูกพันให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการก็ตาม แต่มติ ค.ร.ม.ก็ไม่อาจขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ได้ คงมีผลให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้เป็นไปตามมติ ค.ร.ม.ดังกล่าว เท่านั้น (มติคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๓๔/๒๕๖๓ หน้าที่ ๙)
๔. ตรวจสอบว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือไม่ อำนาจสั่งลงโทษเป็นของศึกษาธิการจังหวัดหรือไม่ และก่อนสั่งลงโทษต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดในแต่ละจังหวัด หรือไม่ หากสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่มีอำนาจสั่งลงโทษ หรือการไม่นำมติของ ป.ป.ช.เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ขอได้โปรดเสนอแนะให้ ก.ค.ศ.มีมติยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้และคืนสิทธิประโยชน์ให้โดยเร็ว
อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงขอความเมตตาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอได้โปรดเยียวยาให้บรรดาผู้ถูกกล่าวหาทั้งที่ได้รับโทษไปแล้วและที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของ ป.ป.ช.ทั้งหมดโดยเร็วเพื่อขวัญและกำลังใจของผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อรัฐแต่ต้องมาตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับความเดือดร้อนสิ้นเนื้อประดาตัวไปทั่ว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาส นี้
ขอแสดงความนับถือ
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ
นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา
โทร ๐๘๓ – ๒๖๕๒๖๙๓