10 ม.ค.65- นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ลงนามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2565 ซึ่งนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.จะต้องมีส่วนร่วม โดยการเปิดโอกาสให้หน่วยงาน องค์กร และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการรับนักเรียน ซึ่งการดำเนินการรับนักเรียนมีองค์กรและหรือคณะกรรมการกระทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ เพื่อให้การรับนักเรียนมีความเป็นธรรม เสมอภาค สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ อีกทั้งจากการที่สพฐ.ได้ดำเนินการเรื่องการรับนักเรียน ร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว ทั้งมีการลงพื้นที่สุ่มติดตามและสังเกตการณ์การรับนักเรียนในพื้นที่ต่างๆ จะทำให้ปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเพื่อแลกกับที่นั่งเรียน หรือ แป๊ะเจี๊ยะ ลดลง
นายอัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับแนวปฏิบัติการรับเด็กชั้นก่อนประถมศึกษาให้รับเด็ก อายุ 4 – 5 ปี ในเขตพื้นที่บริการเข้าเรียนชั้นอนุบาล 2 และ 3 โดยห้ามสอบวัดความสามารถทางวิชาการ หากโรงเรียนมีความจำเป็นและมีความพร้อมด้านคุณภาพการศึกษา ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษาและด้านอาคารสถานที่ ที่จะรับเด็กเข้าเรียนชั้นอนุบาล 1 (3 ปีบริบูรณ์) ให้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการรับนักเรียนระดับโรงเรียน คณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดโดยห้ามสอบวัดความสามารถทางวิชาการ การรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้รับเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 หรือจบการศึกษาชั้นก่อนประถมศึกษาที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน โดยห้ามสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ถ้ายังไม่เต็มแผนการรับนักเรียนให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการได้
Advertisement
สำหรับการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยสัดส่วนการรับนักเรียนและวิธีการคัดเลือกเป็นไปตามประกาศการรับสมัครนักเรียนของโรงเรียน ต้องคำนึงถึงโอกาสของนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. และไม่นำผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต มาใช้ในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้นม. 1 และการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเรียนต่อในโรงเรียนเดิมตามศักยภาพ ความถนัดของนักเรียน และตามแผนการรับนักเรียนของโรงเรียน กรณีที่ยังมีนักเรียนไม่เต็มแผนการรับนักเรียน ให้สามารถรับนักเรียนจากโรงเรียนอื่นได้ โดยสัดส่วนการรับนักเรียนและวิธีการคัดเลือกเป็นไปตามประกาศการรับสมัครนักเรียนของโรงเรียน โดยไม่นำผลคะแนนโอเน็ตมาใช้
“สำหรับสัดส่วนการขอเปิดห้องเรียนพิเศษต่อห้องเรียนปกติ กำหนดให้ไม่เกินสัดส่วน 20:80 (รวมห้องเรียนพิเศษทุกประเภทในแต่ละชั้น) หากโรงเรียนที่เปิดห้องเรียนพิเศษอยู่แล้ว มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะประสงค์ดำเนินการเกินกว่าสัดส่วนที่กำหนด ให้สามารถเปิดรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษต่อห้องปกติ ได้ไม่เกินสัดส่วน 40:60 โดยให้โรงเรียนเสนอคณะกรรมการรับนักเรียนระดับโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา พิจารณาเป็นรายกรณี”เลขาฯ กพฐ.กล่าว
สำหรับปฏิทินการรับนักเรียนปีการศึกษา 2565 มีดังนี้
- ก่อนประถมศึกษา
- รับสมัครวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 65
- จับฉลาก วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 65
- ประกาศผลวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 65
- รายงานตัววันที่ 19 กุมภาพันธ์ 65 และ
- มอบตัววันที่ 26 กุมภาพันธ์ 65
- ประถมศึกษาปีที่ 1
- รับสมัครวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 65
- จับฉลากวันที่ 5 มีนาคม 65
- ประกาศผลวันที่ 5 มีนาคม 65
- รายงานตัว 5 มีนาคม 65
- มอบตัววันที่ 12 มีนาคม 65
- มัธยมศึกษาปีที่ 1
- รับสมัครวันที่ 9-13 มีนาคม 65
- สอบคัดเลือกวันที่ 26 มีนาคม 65
- ประกาศผลวันที่ 30 มีนาคม 65
- รายงานตัววันที่ 30 มีนาคม 65
- จับฉลากวันที่ 1 เมษายน 65
- ประกาศผลจับฉลากวันที่ 1 เมษายน 65 และ
- รายงานตัววันที่ 1 เมษายน 65
- มอบตัววันที่ 2 เมษายน 65
- มัธยมศึกษาปีที่ 4 ประเภทสอบคัดเลือก
- รับสมัครวันที่ 9-13 มีนาคม 65
- สอบคัดเลือกวันที่ 27 มีนาคม 65
- ประกาศผลวันที่ 31 มีนาคม 65 และ
- รายงานตัววันที่ 31 มีนาคม 65
- มอบตัววันที่ 3 เมษายน 65 และ
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนเตรียมศึกษาภูมิภาค
- รับสมัครวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 65
- สอบคัดเลือกวันที่ 5 มีนาคม 65
- ประกาศผลวันที่ 12 มีนาคม 65
- รายงานตัววันที่ 15 มีนาคม 65
- มอบตัววันที่ 21 มีนาคม 65
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 10 มกราคม 2565