ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 13/2564 (สัญจร) วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2564 โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นเลขานุการการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและมีมติที่สำคัญ ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขอให้ ก.ค.ศ. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ เป็นกรณีพิเศษ ในสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งมาตรา 38 ก. วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้มีตำแหน่งคณาจารย์ในหน่วยงานการศึกษาที่สอนในระดับปริญญา และมาตรา 40 กำหนดให้ตำแหน่ง อาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เป็นตำแหน่งทางวิชาการ การกำหนดระดับตำแหน่ง และการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งคณาจารย์ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 53 (6) กำหนดให้การบรรจุและแต่งตั้งตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ ตามมาตรา 38 ก (3) ถึง (6) ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สภาสถาบันอุดมศึกษาทำหน้าที่แทน ก.ค.ศ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งแล้วแต่กรณี เว้นแต่ ก.ค.ศ. จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่าสถาบันการอาชีวศึกษามีงานหลักด้านการสอนและวิจัยเทียบเคียงได้กับลักษณะงานของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา โดยบริบทการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการอาชีวศึกษา เป็นด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี การพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการก็มีหลักการเช่นเดียวกัน
ดังนั้น เพื่อให้การยกระดับวิชาชีพครูสายอาชีวศึกษาให้มีตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น และเพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ทำการสอนในระดับปริญญาของสถาบันการอาชีวศึกษาอยู่ก่อนวันที่หลักเกณฑ์และวิธีการนี้ประกาศใช้บังคับให้ดำรงตำแหน่งคณาจารย์ ก.ค.ศ. จึงเห็นชอบในหลักการให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เป็นกรณีพิเศษ ในสถาบันการอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ดำเนินการปรับรายละเอียดตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในพื้นที่ปกติและในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา และอำเภอนาทวี)
เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 8 ลงวันที่ 26 เมษายน 2562 ข้อ 5 กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือผู้อำนวยการสถานศึกษา แล้วแต่กรณี เมื่อส่วนราชการดำเนินการตามข้อ 5 แล้ว ให้นำเสนอ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแจ้ง กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ดำเนินการต่อไป โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลฯ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด (ว8/2562) และสอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว3/2564) จึงได้กำหนดละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
โดยรายละเอียดการดำเนินการฯ ที่พื้นที่พิเศษแตกต่างจากพื้นที่ปกติ มีดังนี้
- ภาค ก ความรู้ความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ ในเนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับ
เขตพัฒนาพิเศษฯ มีการเพิ่มเนื้อหาการทดสอบกฎหมายว่าด้วยบริหารกิจการอิสลาม
- ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ ส่วนที่ 1 (1) เรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะพิจารณาจากระยะเวลาการปฏิบัติงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จชต.
- ภาค ข ส่วนที่ 2 วิสัยทัศน์และแนวทางการบริหารงานในสถานศึกษา พิจารณาตามพื้นที่ที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก
- ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง
- เงื่อนไขการบรรจุและแต่งตั้งสำหรับผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพัฒนาพิเศษ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งฯ จึงจะขอย้ายออกนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ได้
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.