ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การเรียนยุคโควิด พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” ซึ่งจัดโดยสาขาวิชาพัฒนศึกษา ร่วมกับศูนย์พัฒนานิสิตและบัณฑิตอุดมคติ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 64 โดยได้สรุปข้อมูลการฉีดวัคซีนของนักเรียนอายุมากกว่า 12ปีทั้งระบบ ณ วันที่ 19 พ.ย. 64 ว่ามีนักเรียนประสงค์ฉีดวัคซีนประมาณร้อยละ 80 จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด และในจำนวนนี้สามารถฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว ร้อยละ 91.22 ฉีดเข็ม 2 ไปแล้วร้อยละ 36.77 สำหรับครูในระบบทั้งหมด ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มไปแล้วร้อยละ 96 แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นพบว่า นักเรียนแม้ได้รับวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อจากผู้ปกครองที่บ้านซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวนนักเรียนที่ติดเชื้อจากที่บ้านมีสูงถึงร้อยละ 99 นอกจากนี้ยังพบปัญหาจำนวนนักเรียนฉีดวัคซีนต่ำในพื้นที่ที่มีการระบาดน้อย เนื่องจากผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญและไม่ยินยอมให้นักเรียนฉีดวัคซีน จากสถานการณ์ปัญหาทั้งหมด ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องพยายามหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเปิดเรียนแบบ On-site ได้ มีเพียงโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ประมาณ 5,000 แห่งจาก 30,000 แห่งที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ยังต้องจัดการเรียนการสอนผ่านระบบทางไกลเช่นเดิม ดังนั้นการเรียนการสอนในระบบทางไกล โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ยังมีความจำเป็น แต่โดยหลักควรสอนออนไลน์ในเด็กตั้งแต่อายุ 14 ปีขึ้นไปเนื่องจากผู้เรียนมีความรับผิดชอบด้วยตัวเองได้ แต่หากสอนออนไลน์ในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องมีผู้ช่วยครู (Teacher Assistant) คอยช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองทำหน้าที่นี้อยู่ อีกทั้งยังให้ความเห็นว่า 1) การจัดการศึกษาทางไกล ไม่ได้เป็นเรื่องแค่การมีเครื่องมืออย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญที่ Content และระบบการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากการสอนในชั้นเรียนกับการสอนออนไลน์ต้องมีรูปแบบการนำเสนอต่างกัน และต้องไม่ควรใช้เวลาสอนออนไลน์เกิน 20 นาที 2) การจัดการศึกษาทางไกลมีหลักการคือ ต้องจัดการศึกษาผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อรองรับให้แก่ผู้ที่มีความพร้อมแตกต่างกันให้ได้ 3) การจัดการศึกษาทางไกลของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสอนออนไลน์และออนแอร์เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ มีนักเรียนประมาณกว่าร้อยละ 70 ที่ยังไม่มีทรัพยากรเพียงพอต่อการเข้าถึงการเรียนการสอนดังกล่าวได้ 4) การที่นักเรียนไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนแบบ On-site ได้ตามปกติทำให้นักเรียนประสบปัญหาสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) ซึ่งไม่ใช่แค่ความรู้ ทักษะที่สูญเสียไป แต่รวมถึงพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจของนักเรียนด้วยที่ต้องสูญเสียไป ดังนั้นหากเปิดเรียนได้ตามปกติ ต้องมีการฟื้นฟูพัฒนาการดังกล่าวให้แก่นักเรียนโดยเร่งด่วน
ด้านดร.จงกล เดชปั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนนครสวรรค์ ขยายความเพิ่มเติมว่าการจัดการเรียนการสอนทางไกล ไม่อยากให้ยึดติดที่เครื่องมือ เพราะแม้จะมีเครื่องมือ เช่นโรงเรียนมีอุปกรณ์ให้ยืมได้ แต่หากไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือความพร้อมของครอบครัว ก็ไม่สามารถใช้ให้เกิดผลได้ ดังนั้นจึงต้องจัดการเรียนการสอนตามความพร้อมของนักเรียน การเรียนแบบ On-hand หรือการที่มีครูไปช่วยสอนที่บ้าน ก็สามารถทำได้เช่นกัน ดังนั้นจุดสำคัญคือต้องเน้นที่การจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับนักเรียนให้ได้ ตามรูปแบบที่นักเรียนมีความพร้อม อย่าไปยึดติดกับเครื่องมือ อุปกรณ์
ด้านดร.สุพรรัตน์ สัตตธนชัยภัทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิต เสริมว่าผู้ปกครองแสดงความประสงค์ขอเรียนแบบ On-hand มากกว่า แม้ว่าทางโรงเรียนจะมีอุปกรณ์และซิมอินเทอร์เน็ตให้ผู้ปกครองยืมเรียนได้ก็ตาม เนื่องจากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้อ่านหนังสือ ทำใบงานมากกว่า ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนในระบบทางไกล ครูคือหัวใจสำคัญของระบบการเรียนรู้ ไม่ใช่อุปกรณ์ กล่าวคือการจัดการเรียนการสอนตามความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมากกว่าเรื่องเครื่องมือ
ด้านดร.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า 1)กลุ่มอายุของผู้เรียนน่าจะเป็นประเด็นสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องการเข้าถึงอุปกรณ์ เพราะอย่างที่ทราบว่าการเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก แต่การเรียนการสอนแบบ On-hand เหมาะสมกว่า ดังนั้นอุปกรณ์ที่ควรใช้คือกล่องการเรียนรู้ (Learning Box) การทำกิจกรรม การทำชิ้นงาน และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับครูผู้สอน จะเป็นวิธีที่เหมาะสมและได้ผลมากกว่า 2) ลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนชอบการเรียนออนไลน์ เพราะดูย้อนหลังได้ ครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้บทบาทของครูกับผู้ปกครอง ยังมีความสำคัญในแง่ที่ต้องช่วยเหลือผู้เรียนไปด้วยให้ได้ผลมากที่สุด 3) โรงเรียนไม่ใช่เพียงแค่แหล่งเรียนรู้ แต่ยังเป็นแหล่งอาหาร สถานที่ที่ดูแลสุขภาวะ ความปลอดภัยของนักเรียนด้วย จึงควรเป็นสถานที่สุดท้ายที่ควรปิด ต้องพยายามเปิดโรงเรียนให้ได้แม้จะมีสถานการณ์โควิด ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ได้ออกแบบการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อย เพื่อให้เรียนได้พร้อม ๆ กับควบคุมโรคได้ด้วยอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังพูดถึงงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่ครูได้ ครูยังเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีและประสบความสำเร็จได้ เทคโนโลยีเป็นเพียงตัวช่วยของครูให้จัดการศึกษาได้ดีขึ้นเท่านั้น