ศธ.ประชุมผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 20 แห่ง ที่สมัครเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน “สุทธิชัย จรูญเนตร” ชูนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องหนี้สินครู ย้ำเวทีประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่แนวทางที่เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริง เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีสภาพคล่องในการชำระหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว กรุงเทพฯ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการ เช่น นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. นายวัลลพ สงวนนาม รองเลขาธิการ กพฐ. รวมทั้งตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กรมส่งเสริมสหกรณ์ ประชุมโครงการ “แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน” ร่วมกับผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 20 แห่งที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ประชุมร่วมกับผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 20 แห่งที่สมัครเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูฯ ร่วมกับ ศธ. (ยกเว้นสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพชรบูรณ์ ซึ่งไม่ได้ร่วมประชุมครั้งนี้ เพราะติดประชุมใหญ่สามัญ) ท่ามกลางการจับตามองของสังคม ที่ตั้งคำถามว่าจะไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร เพราะเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินครู ได้เกิดขึ้นมานานหลายรัฐบาลแล้ว แต่ด้วยเงื่อนไขและเวลา อาจจะยังไม่สำเร็จ จนถึงยุคนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเรื่องหนี้สินทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มครูและตำรวจ
ในขณะที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะเชื่อว่าตราบใดที่ครูมีหนี้สินจำนวนมาก ภาระเยอะ ย่อมส่งผลถึงขวัญกำลังใจในการสอนเด็ก และส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา จึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ โดยมอบหมายให้ตนเป็นประธาน พร้อมทั้งเชิญบุคคลภายนอก เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมเป็นกรรมการเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมทั้งนำแนวทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของ ศธ. ชุดที่ผ่านมา ซึ่งนายอนุชา บูรพชัยศรี อดีตเลขานุการ รมว.ศธ. เป็นประธาน มาสานต่อ ทำให้เข้าใจถึงปัญหาและแนวทางที่จะทำงานต่อได้รวดเร็วมากขึ้น
สำหรับการแก้ปัญหาระยะแรก ได้เชิญสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 2 แห่ง ซึ่งเป็นต้นแบบ คือ สมุทรปราการ และกำแพงเพชร มาเล่าให้ฟังถึงวิธีการแก้ปัญหา จากนั้นถอดบทเรียนการแก้ปัญหา ซึ่งทำให้เห็นว่าตรงกับมาตรการที่คณะกรรมการคิดไว้เช่นกัน จนกระทั่งได้ขยายเป็นระยะที่สอง ที่เปิดรับสมัครสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศเข้ามาร่วมโครงการ ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นอกเหนือจาก 20 แห่งนี้แล้ว จะเปิดรับสมัครเพิ่มเติมจนถึงเดือนธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการ และขยายผลการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
Advertisement
นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ปัจจุบันครู 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณร้อยละ 80 มีหนี้สินรวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เป็นจำนวน 8.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64 รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน จำนวน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของหนี้สินครูทั้งหมด สาเหตุของปัญหาหนี้สิน เช่น เกิดจากข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เจ้าหนี้เป็นฝ่ายกำหนดอาจเป็นข้อตกลงที่เอาเปรียบลูกหนี้ที่ต้องยอมรับเพราะไม่มีทางเลือก ลูกหนี้ไม่มีวินัยทางการเงินหรือใช้จ่ายเกินตัว ฯลฯ
ศธ.จะพิจารณาร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนำร่อง 20 แห่ง เกี่ยวกับขอบเขตการดำเนินงานแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยมีแนวทางที่จะนำมาพิจารณาร่วมกัน เช่น
– ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้ต่ำลงไม่เกิน 3% เพราะปัจจุบันอยู่ที่ 3.5-4.5% ถือว่าสูงผิดปกติ ต้องกำหนดเพดานเงินฝากให้ต่ำลงเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อเงินกู้
– ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5-5.0%
– จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น
– นำเงินปันผลมาหักชำระหนี้เพื่อลดยอดหนี้รายเดือน
– การบริหารความเสี่ยง การสร้างหลักประกันเงินกู้
– การปรับลดบุคคลค้ำประกัน ปรับลดการซื้อประกันที่ไม่จำเป็นลง
– การปรับโครงสร้างหนี้
– จัดทำฐานข้อมูลสมาชิก และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงินและต้นสังกัด
– ร่วมกับส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ ให้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%
– สร้างระบบพัฒนาดูแลสมาชิก ให้ความรู้เสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางด้านการเงิน การสร้างอาชีพเสริม ลดรายจ่าย เพิ่มการออม ไม่ก่อหนี้เพิ่ม
ทั้งนี้ จะขยายผลการแก้ปัญหาสู่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ ในระดับพื้นที่ทั้ง 4 ภาค ภายในต้นปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตัวอย่าง/ต้นแบบ ที่มีการบริหารจัดการที่สามารถนำไปขยายผลได้ เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งเกิดการพัฒนากลไกการทำงานของภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ส่งผลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีสภาพคล่องในการชำระหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารจากส่วนราชการภายในและภายนอก ศธ. ชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ คือ
– นายขจร ธนะแพสย์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวให้แนวทางการบริหารจัดการสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการยุบยอดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การบริหารความเสี่ยง
– ตัวแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้แนวทางการ Re-Finance หนี้ครูไปยังสหกรณ์ สินเชื่อบำเหน็จตกทอด เพิ่ม Funding Resource ให้สหกรณ์เพื่อทดแทนเงินฝาก
– นายสุรพล โอภาสเสถียร จากบริษัทเครดิตบูโร ให้แนวทางการจัดเก็บและบริหารจัดการฐานข้อมูลหนี้สิน โดยการสนับสนุนข้อมูลจากเครดิตบูโร
– นางสุรางค์ คัยนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการสหกรณ์ ที่จะนำแนวทางจากการดำเนินงานร่วมกันของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบไปพิจารณาแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้
– นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ให้แนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และประสบการณ์ที่เคยทำหน้าที่เป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมาเป็นระยะเวลา 2 ปี
– นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ให้แนวทางการหักเงิน ณ ที่จ่าย และการควบคุมยอดหนี้ของครูในสังกัด รวมทั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่การศึกษา
– ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการและกำแพงเพชร ให้แนวทางเกี่ยวกับแผนการแก้ไขหนี้สินครู เพื่อเป็นแนวทางและถอดบทเรียนในการบริหารจัดการของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้จัดการ/ ตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 20 แห่ง ที่สมัครเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เข้าร่วมประชุมหารือ ดังนี้
– ภาคเหนือ 4 แห่ง คือ สอ.ครูเพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และลำปาง
– ภาคกลาง 4 แห่ง คือ สอ.ครูกาญจนบุรี สมุทรปราการ ชัยนาท และสระแก้ว
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แห่ง คือ สอ.ครูสกลนคร หนองคาย ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สุรินทร์ มุกดาหาร และอุบลราชธานี
– ภาคใต้ 5 แห่ง คือ สอ.ครูภูเก็ต ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ชุมพร และกระบี่
ขอบคุณที่มา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน