นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) ได้มอบหมายการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพของผู้เรียน โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นโยบายที่ 1 การปรับหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน สามารถดำเนินการได้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ โดยการบูรณาการตัวชี้วัดและการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อกำหนดเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพบริบทของสถานศึกษา ความต้องการของนักเรียน และชุมชน โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความสุขในการเรียน และนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยมีสถานศึกษาดำเนินการแล้วกว่าร้อยละ 90
นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น การใช้โครงงานเป็นฐาน (PBL), GPAS 5 Steps, หลักสูตรอารยเกษตร, การใช้กระบวนการวิจัย, มอนเตสซอรีสำหรับระดับปฐมวัย, STEM Education,จิตศึกษา, การใช้แผนผังความคิด, การทดลองการศึกษาจากแหล่งการเรียนรู้และการใช้เกมเป็นฐานและการใช้กิจกรรมเป็นฐาน เป็นต้น
อีกทั้ง ศธ.ยังได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ….(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยมีการกำหนดสมรรถนะหลัก 6 สมรรถนะสำคัญ ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน และสมรรถนะเฉพาะ ซึ่งเป็นสมรรถนะประจำรายวิชา และการจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ…..(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ยังช่วยหลอมตัวชี้วัดและการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ ซึ่งช่วงชั้นที่ 1 ได้ออกมาเป็น 70 ผลลัพธ์การเรียนรู้ และกำลังดำเนินการในช่วงชั้นต่อๆ ไป ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการของการศึกษาวิจัยและพัฒนา โดยนำไปทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม 265 โรงเรียนจาก 8 จังหวัด ซึ่งได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผ่านการใช้กระบวนการพี่เลี้ยงพาทำหลักสูตรสถานศึกษา
“การปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ตอนนี้ สพฐ.ไม่มีความกังวลแต่ประการใด เพราะสถานศึกษามีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง ผนวกกับการพัฒนาอบรมครูในการสอน Active Learning ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมีการประสานกับนักวิชาการในพื้นที่ และมีการบูรณาการตัวชี้วัดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 จึงทำให้การจัดการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใด ก็ให้ความสำคัญกับเป้าหมายเดียวกันคือ การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน”รองเลขาฯ กพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564