แก้ปัญหาหนี้สินครู เกาไม่ถูกที่คัน
วรเทพ ไวทยาวิโรจน์ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
หนี้สินของครูนั้น ถ้าจะให้ค่อยบรรเทาลงไป จะต้องใช้แนวทางของสหกรณ์ และหากภาครัฐจะอุดหนุนเรื่องเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ควรจะผ่านองค์กรของสหกรณ์ไม่ใช่ธนาคาร
ความห่วงใยของกระทรวงศึกษาธิการในปัญหาหนี้สินครู ซึ่งมีแนวคิดจะปรับโครงสร้างหนี้ของครูด้วยการใช้ธนาคารออมสินเป็นแกนหลัก อีกทั้งยังต้องการช่วยเหลือครูให้สามารถกู้เงินได้ถึงรายละ 2 ล้านบาท และกู้เพื่อสร้างอาชีพเสริมได้อีกรายละ 5 แสนบาท โดยมีเป้าหมายว่าจะช่วยลดปัญหาหนี้สินครูได้ถึง 3 แสนคน ภายใน 4 ปี และช่วยครูที่มีหนี้สินสูงมากอีก 1 แสนคน ให้พ้นบ่วงกรรม
ถ้าพิจารณาจากดำริของกระทรวงศึกษาธิการในแง่นี้ก็ดูดีที่จะหวังให้ครูพ้นพันธะการเงิน จะได้มีกำลังใจสอนหนังสือให้แก่เยาวชนของชาติอย่างเต็มสติกำลัง หากแต่ลำพังเมื่อฟังแนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการแล้วก็เห็นว่า ทางราชการกำลังดำเนินการไปในทิศทางที่ไม่น่าจะเหมาะสม และคงจะแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไม่ได้ เพราะยังพลาดเป้าไปในปัจจัยที่สำคัญ 7 ประการคือ
ประการแรก การคิดจะบรรเทาปัญหาหนี้สินครูโดยการสร้างหนี้เพิ่มหรือเปลี่ยนเจ้าหนี้ ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาหนี้อย่างแน่นอน เพราะหนี้ต้องล้างด้วยการลดและเลิกการสร้างหนี้ใหม่ ไม่ว่าจะกับใครทั้งสิ้น
ประการที่สอง กระทรวงศึกษาธิการได้เคยแก้ไขปัญหาหนี้สินครูโดยวิธีผ่านธนาคารออมสินมาแล้วอย่างน้อย 2-3 ครั้ง แต่ก็ไร้ผลและหนี้สินครูต่อหัวต่อคนกลับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก แล้วกระทรวงฯ ก็ยังไม่มีแนวคิดใหม่ยังคงใช้แนวทางเดิมที่ไม่ประสบผลสัมฤทธิ์พลิกกลับมาใช้อีก
ประการที่สาม การให้กู้เงินโดยใช้ทรัพย์สินค้ำประกันในวงเงินถึง 2 ล้านบาท ครูจะไปเอาทรัพย์สินที่ใดมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และจะมีครูกี่คนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 2 ล้านบาท มาวางค้ำประกันหนี้
ประการที่สี่ อัตราดอกเบี้ยกำหนดเบื้องต้นที่ 6.25% ต่อปี ก็มิใช่อัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะในกรณีที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งก็มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่านี้ รวมทั้งมีเงินเฉลี่ยคืนประจำปีให้อีกด้วย (แม้ทางการจะแก้ไขว่าจะลดดอกเบี้ยให้ 1% ก็ต้องในกรณีที่ชำระหนี้ครบแล้วซึ่งเป็นเรื่องเกิดทีหลัง)
ประการที่ห้า ทางราชการทราบหรือไม่ว่า จะมีครูกี่คนที่กู้เงิน 2 ล้านบาท แล้วผ่อนชำระได้โดยไม่เดือดร้อนต่อการครองชีพ เพราะครูมักมีรายได้ทางเดียวจากเงินเดือนเท่านั้น
ประการที่หก การจะจำกัดมิให้ครูก่อหนี้ใหม่เป็นเรื่องพ้นวิสัย เพราะไม่มีกลไกใดจะควบคุมได้ การรุกคืบของบัตรเครดิต การเจาะแนวของกลุ่ม Non-Bank การขยายกรงเล็บของฉลามเงินกู้นอกระบบ การหลอกล่อของสินค้าผ่อนส่ง ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้จินตนาการของทางการที่จะควบคุมการก่อหนี้มีแต่ทางเป็นหมัน
ประการที่เจ็ด ครูจะต้องเตรียมการสอน จะต้องเพิ่มวุฒิภาวะ จะต้องทำผลงานวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่ง แล้วจะเอาเวลาไปฝึกอาชีพแม้ฝึกอาชีพทำสินค้าได้อย่างไร ปัญหาการตลาดใครจะช่วยหากขายของไม่ได้ ขาดทุนเกิดหนี้ซ้ำซ้อน ใครจะแก้ไขปัญหา
ความจริงก่อนจะคิดแก้ไขปัญหาหนี้สินครูชอบที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องหาข้อมูลให้ครบถ้วนและหนักแน่นเสียก่อน กระทรวงฯควรหารือกับชุมนุมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ตลอดจนนักวิชาการสหกรณ์ให้ช่วยกันระดมสมองมาแนะนำแนวคิดที่เป็นรูปธรรม และมีหนทางสำเร็จค่อนข้างสูงน่าจะชอบด้วยหลักการมากกว่าที่คิดเอง ทำเองโดยย่ำแนวทางเก่าๆ อย่างไม่กล้าออกนอกกรอบเดิม
หนี้สินของครู ถ้าจะให้ค่อยบรรเทาลงไปจะต้องใช้แนวทางของสหกรณ์ และหากภาครัฐจะอุดหนุนเรื่องเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ควรจะผ่านองค์กรของสหกรณ์ไม่ใช่ธนาคาร แต่ความจริงเรื่องนี้ไม่ควรแก้ไขโดยการเพิ่มเงินให้กู้อย่างที่กล่าวมาแต่ต้นเพราะปัญหาหนี้สินครูเกิดจากเหตุเพียง 3 ประการ คือ
1.ค่านิยมของครูเองที่ใช้เงินมากกว่ารายได้ แข่งขันกันมี มากกว่าแข่งขันกันหา เพราะครูยังไม่ยอมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.ครูเข้าถึงแหล่งเงินง่ายเกินไป เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมักปล่อยเงินกู้ไร้หลักทรัพย์ค้ำประกัน (Clean loan) ในอัตราที่สูงมาก (บางแห่ง 1 ล้าน 6 แสนบาท) และผ่อนชำระถึง 10 ปี
3.ครูไม่เคยมีความรู้ในด้าน Personal Finance Management จึงถือหลักแต่เพียงกู้เงินทุกครั้งที่เงินไม่พอใช้จ่าย แต่ไม่เคยวิเคราะห์ความจำเป็นของการใช้จ่ายเลยก่อนที่จะก่อหนี้
หนทางที่กระทรวงศึกษาธิการคิดจะแก้ไขหนี้สินครูเป็นแนวทางที่แก้ไขไม่ตรงจุด "เกาไม่ถูกที่คัน" จึงชอบที่กระทรวงจะคิดหาทางใหม่ให้รัดกุมขึ้น โดยให้ครูมีความรู้ในการจัดระเบียบการใช้เงิน นำระบบสหกรณ์มาเป็นตัวนำด้วยหลักปรัชญาของสหกรณ์อย่างแท้จริง จัดระเบียบผู้บริหารในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้มีคุณภาพและความรู้ความสามารถ ยุติการสร้างหนี้ ขณะเดียวกันก็วางแผนลดหนี้ (โดยหลักสหกรณ์) ตามลำดับให้สหกรณ์ครูทุกสหกรณ์จัดให้มี Clinic การแก้ไขหนี้ให้สมาชิก
หากเรารู้จักระบบสหกรณ์ดีกว่านี้ ใช้หลักปรัชญาสหกรณ์ให้ถูกต้อง อีกทั้งใช้องค์กรทางสหกรณ์เป็นเครื่องมือในการคิดอ่านแก้ไขปัญหาแล้ว เชื่อแน่ได้ว่า ในไม่ช้าปัญหาหนี้สินครู ก็จะไม่เป็นภูเขาทับอกดุจเดียวกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อ้างอิง : วรเทพ ไวทยาวิโรจน์.2548.แก้ปัญหาหนี้สินครู เกาไม่ถูกที่คัน.[Online].Available.URL : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q3/article2005july29p6.htm