นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ทำจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหาแนวทางลดโทษหรืองดโทษกรณีที่ข้าราชการครูฯ เกี่ยวข้องกับคดีการก่อสร้างสนามฟุตซอล ดังนี้
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ข้าราชการครูออกจากราชการจำนวน ๖๕ ราย เนื่องจาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดว่าบรรดาข้าราชการครูเหล่านั้นทุจริตต่อหน้าที่ราชการในเรื่องการก่อสร้างสนามฟุตซอล นั้น ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทยได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดแล้วเห็นว่าสังคมต่างรับรู้ดีว่าข้าราชการครูที่ถูกลงโทษไล่ออกดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นเหยื่อฝ่ายการเมือง ข้อเท็จจริงจากการสอบสวนไม่ปรากฏว่าข้าราชการครูที่ถูกไล่ออกได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ใดๆแต่อย่างใด ถ้าจะผิดวินัยไปบ้างก็คงจะเป็นเรื่องบกพร่องต่อหน้าที่เท่านั้น อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าข้าราชการครูทุกรายดังกล่าวต่างกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่แล้ว ส่วนราชการต้นสังกัดก็จำต้องลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงข้าราชการครูเหล่านั้น ชมรมฯรับทราบมาว่าผู้ถูกลงโทษต่างก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นว่าผู้ถูกลงโทษได้รับโทษหนักเกินกว่ากรณีความผิดก็อาจมีมติให้ลดโทษได้โดยอาศัยเหตุผลดังต่อไปนี้
มาตรา ๙๙ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติไว้ว่า “เมื่อได้ดำเนินการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๙๘ แล้ว ถ้าฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัย ให้สั่งยุติเรื่อง ถ้าฟังได้ว่ากระทำผิดวินัย ให้ดำเนินการตามาตรา ๑๐๐ และในกรณีที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนผ่อนโทษ ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก” จากประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวเห็นว่าผู้มีอำนาจพิจารณา สามารถที่จะลงโทษบรรดาผู้ถูกกล่าวหาในสถานโทษ “ปลดออกจากราชการ” ได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่ามีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้มีสาระสำคัญว่าข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ให้ผู้มีอำนาจลงโทษ “ไล่ออก” สถานเดียว นั้น ชมรมฯขอกราบเรียนด้วยความเคารพว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยนิติรัฐ ซึ่งหมายถึงการบริหารปกครองประเทศซึ่งถือกฎหมายเป็นใหญ่ กรณีนี้เห็นว่ามติ ค.ร.ม.ไม่มีฐานะเป็นกฎหมายหรือแม้จะถือว่ามติ ค.ร.ม.ฉบับนี้เป็นกฎหมาย ก็เป็นกฎหมายลำดับรองซึ่งมีศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เนื้อความของ มติ ค.ร.ม. ที่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่สามารถนำไปใช้บังคับได้ ดังนั้น ผู้มีอำนาจจึงสามารถเปลี่ยนระดับโทษจากไล่ออกเป็น ปลดออก เพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อดำรงชีพในยุคการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID – 19 ต่อไป
ขอได้โปรดตรวจสอบว่าผู้ที่ลงนามสั่งลงโทษไล่ออกบรรดาข้าราชการดังกล่าว มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งลงโทษข้าราชการครูที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้หรือไม่ เป็นผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๓ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงมีอำนาจตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๑๙ หรือไม่ ถ้าไม่มีอำนาจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีอำนาจสั่งยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว และสั่งให้ผู้ถูกลงโทษกลับเข้ารับราชการ แล้วส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งลงโทษพิจารณาใหม่โดยผู้มีอำนาจพิจารณาที่แท้จริงอาจสั่งให้ลงโทษในสถานโทษ ปลดออก ได้และจะเป็นคุณกับผู้ถูกกล่าวหา
เรื่องความสามารถเปลี่ยนแปลงระดับโทษได้หรือไม่ นั้น ศาลปกครองสูงสุด เคยวางหลักไว้ว่า “คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีผลผูกพันองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงฐานความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัยและยุติแล้ว ให้เป็นประการอื่นได้ สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยจึงถูกจำกัดว่าจะอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษผู้บังคับบัญชา เท่านั้น”(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟ ๒๐/๒๕๖๐) จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจึงเห็นว่าผู้มีอำนาจสามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นลง “โทษปลด”ออกได้
กรณีข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว นั้น ก.ค.ศ. ควรพิจารณาข้อกฎหมาย ดังนี้
๓.๑ ถ้ามีการกล่าวหาข้าราชการรายนั้นก่อนเกษียณอายุราชการต้องสั่งลงโทษภายในสามปี นับแต่ข้าราชการรายนั้นเกษียณอายุราชการ ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงว่าข้าราชการรายใดเกษียณอายุราชการไปแล้วเกินกว่า ๓ ปี ผู้มีอำนาจก็ไม่สามารถสั่งลงโทษทางวินัยใดๆได้ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๑๐๒ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๖๒
๓.๒ ถ้ามีการกล่าวหาข้าราชการรายใดหลังจากที่ข้าราชการรายนั้นออกจากราชการแล้ว ต้องเริ่มทำการสอบสวนภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ข้าราชการรายนั้นออกจากราชการ และต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ข้าราชการรายนั้นเกษียณอายุราชการ กรณีนี้จึงต้องตรวจสอบดูว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเมื่อวันที่เท่าใด หากมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน หลังจากวันที่ข้าราชการรายนั้นเกษียณอายุราชการแล้วเกินกว่า ๑ ปี หรือถ้าไม่มีคำสั่งลงโทษภายใน ๓ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ ก็ไม่สามารถลงโทษทางวินัยใดๆได้ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๖๒ และเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วางหลักไว้ (เรื่องเสร็จที่ ๑๓๖๔)
จากข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นว่าเป็นช่องทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสามารถหยิบยกมาพิจารณาเพื่อช่วยเหลือบรรดาข้าราชการครูที่มีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเมื่อ สพฐ.จัดสรรงบประมาณจัดทำสนามฟุตซอล ก็รับไว้เพื่อประโยชน์ของเด็กๆในชนบท หากจะทำผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องของความไม่เข้าใจระเบียบแต่ขาดเจตนาทุจริต หากการพิจารณามีผลเป็นอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่มีโรงเรียนใดต้องการงบประมาณจากส่วนกลางอีก อันจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ ต่อไป