เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการคุรุสภา วันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง ประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ. … ตามที่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเสนอ โดยเนื้อหาสาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการคุรุสภาฯ ที่แก้ไข ยังกำหนดให้สอบวิชาเอก ในการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ตามมาตรฐานวิชาชีพอยู่ โดยกำหนดใหม่ ว่า สมรรถนะทางวิชาชีพครู ประกอบด้วย (ก) ความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ได้แก่ (1) วิชาชีพครู (2) วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร (3) วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (4) วิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา (5) วิชาเอก ตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด พร้อมกับเพิ่มเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ เกี่ยวกับการสอบวิชาเอก ใน ร่าง ประกาศคณะกรรมการคุรุสภาฯ โดยกำหนดใน ข้อ 12 ให้มีการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามข้อ (7) (ก) (5) เมื่อคุรุสภาปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา ให้เชื่อมโยงกับวิชาเอกที่จะดำเนินการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูต่อไป
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมองว่าหลักการของการสอบวิชาเอกนั้นดี แต่ขณะนี้ทางคุรุสภายังไม่มีความพร้อม โดยที่ประชุมให้เวลาคุรุสภาไปพัฒนาระบบ 2 ปี ในการจัดทำระบบรองรับการสอบวิชาเอก ดังนั้นในการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะไม่มีการสอบวิชาเอก จนกว่าคุรุสภาจะพัฒนาระบบได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นภายใน 2 ปีนี้คุรุสภาจะต้องไปจัดทำระบบเพื่อรองรับการสอบวิชาเอก
ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า คุรุสภาจะใช้เวลา 2 ปี ในการปรับระบบเพื่อให้มีความพร้อมในการสอบวิชาเอก ซึ่งการสอบวิชาเอก จะต้องพร้อมทั้งหน่วยผลิตคือมหาวิทยาลัย และผู้เรียนต้องรับทราบล่วงหน้า อีกทั้งระบบต่างๆ ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา ที่ต้องปรับใหม่ทั้งหมด และการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ จะเปลี่ยนรูปแบบใหม่เช่นกัน คือการสอบจะเป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด และคุรุสภาจะเป็นผู้จัดทำข้อสอบเอง จะไม่จ้างสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ทำข้อสอบแล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 29 ตุลาคม 2564